อื่นๆ
เจ้าพระยาวิเชียรคีรี (เม่น) (test)
เจ้าพระยาวิเชียรคีรี (เม่น)
ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลาลำดับที่ ๖ (พ.ศ. ๒๔๐๘ - ๒๔๒๗) และ
เจ้าพระยาวิเชียรคีรี (เม่น) เป็นบุตรของพระยาวิเศษภักดี (เถี้ยนจ๋ง) เจ้าเมืองสงขลาลำดับที่ ๓ โดยได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นเจ้าเมืองสงขลาลำดับที่ ๖ สืบต่อจากเจ้าพระยาวิเชียรคีรี (บุญสัง) ผู้มีศักดิ์เป็นอา ในช่วงปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นผู้ที่ได้รับความไว้วางพระราชหฤหัยเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กรับราชการอยู่ในกรุงเทพฯมาแต่เล็ก
เจ้าพระยาวิเชียรคีรี (เม่น) รับสนองพระบรมราชโองการพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นแม่กองควบคุมการสร้างพระเจดีย์บนยอดเขาตังกวน และเก๋งจีนเพื่อชมวิวเมืองสงขลาและศึกษาดาราศาสตร์ ดังเช่นพระนครคีรีที่จังหวัดเพชรบุรี โดยมีบันไดอย่างดีขึ้นถึงยอด เจ้าพระยาวิเชียรคีรี (เม่น) เป็นผู้ที่ซื่อสัตย์และมีความละเอียดในการทำบัญชีรายการก่อสร้างเป็นหลักฐานครบถ้วนโดยละเอียด เจ้าพระยาวิเชียรคีรี (เม่น) ได้สานต่อการก่อสร้างถนนสายเศรษฐกิจสงขลา-ไทรบุรี-ปีนัง
ต่อจากเจ้าพระยาวิเชียรคีรี (บุญสัง) จนสำเร็จเรียบร้อย ทำให้เมืองสงขลาเจริญเคียงคู่ขึ้นกับเกาะปีนังมาตามลำดับ และในปี พ.ศ. ๒๔๑๔ ได้จัดการรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ภายหลังจากเสด็จฯ กลับจากประพาสอินเดีย โดยได้เสด็จขึ้นที่เมืองไทรบุรีมาตามถนนเพื่อเสด็จลงเรือที่เมืองสงขลากลับสู่พระนคร นับเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ข้ามแหลมมลายูทางสถลมารคเป็นครั้งแรก
เจ้าพระยาวิเชียรคีรี (เม่น) สมรสกับท่านผู้หญิงสุทธิ์ ธิดาของพระยารัตนโกษา (บุญเกิด) ชาวกรุงเทพฯ ท่านผู้หญิงสุทธิ์เป็นผู้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนาและเป็นผู้สร้างวัดสุทธิวรารามที่กรุงเทพฯ รวมทั้งสร้างอุโบสถภายในวัดแจ้งที่เมืองสงขลา ซึ่งวัดดังกล่าวนี้ ยังมีโบราณสถานที่สำคัญสำหรับบุคคลในตระกูล ณ สงขลา นั่นคือ บัวบรรจุอัฐิของตระกูล ณ สงขลา ๒ บัว ซึ่งสามารถถอดชิ้นส่วนออกและประกอบกลับเข้าที่ตามทรงเดิมได้๖ เมืองสงขลาในยุคนั้นได้เจริญรุดหน้าเป็นอย่างมากจากการปกครองของเจ้าพระยาวิเชียรคีรี (เม่น) โดยมีพระยาสุนทรานุรักษ์ (เนตร์) บุตรชายคนโตเป็นผู้ช่วยราชการเมือง และได้รับพระมหากรุณาพระราชทานตราสืบตระกูลวางตัวให้เป็นผู้สืบตำแหน่งต่อมา แต่เหตุการณ์ไม่เป็นไปตามคาดหวัง เนื่องจากพระยาสุนทรานุรักษ์ (เนตร์) ได้ถึงแก่อนิจกรรมไปก่อน และเป็นเหตุให้เจ้าพระยาวิเชียรคีรี (เม่น) มีอาการป่วยด้วยความเสียใจและถึงแก่อนิจกรรมใน ๒ ปีต่อมา