พระยาวิเศษภักดี (เถียนจ๋ง)
ผู้ว่าราชการเมืองสงขลาลำดับที่ ๓ (พ.ศ. ๒๓๕๔ - ๒๓๖๑)
พระยาวิเศษภักดี (เถี้ยนจ๋ง) เป็นบุตรของพระอนันตสมบัติ (บุญเฮี้ยว) เป็นหลานลุงของเจ้าพระยาอินทคีรี (บุญหุ้ย) เจ้าเมืองสงขลาลำดับที่ ๒
ในช่วงที่ถวายตัวเป็นมหาดเล็กที่กรุงเทพฯ ได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นหลวงนายฤทธิ์ ออกมาในทัพเรือของเจ้าพระยาพลเทพ (บุนนาค) ไปกู้เมืองถลางคืนจากกองทัพพม่า ในปี พ.ศ. ๒๓๓๘ หลังจากพม่าแตกหนีกลับไป เกิดกบฎเมืองยิริง จึงได้รับคำสั่งให้ไปปราบกบฎเมืองยิริงและจับกบฎได้ จึงอยู่จัดการแยกเมืองตานีออกเป็น ๗ หัวเมืองตามพระบรมราชานุญาต โดยอยู่จัดระเบียบเป็นเวลา ๖ เดือนจึงเสร็จราชการ
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมืองถลางถูกพม่าเข้ายึดได้อีก จึงโปรดเกล้าฯ ให้หลวงนายฤทธิ์ (เถี้ยนจ๋ง) เชิญท้องตราไปยังเมืองสงขลาเพื่อเกณฑ์ไพร่พลจากเมืองสงขลา พัทลุง และไทรบุรี ร่วมทัพกับเจ้าพระยายมราชไปตีเมืองถลางคืนได้
เมืองสงขลาปราศจากข้าศึกอยู่ ๓ ปีเจ้าพระยาอินทคีรี (บุญหุ้ย) ก็ถึงแก่อสัญกรรม เจ้าพระยาอินทคีรีไม่มีบุตร จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หลวงนายฤทธิ์ (เถี้ยนจ๋ง) เป็นพระยาวิเศษภักดีศรีสุรสงคราม พระยาสงขลาสืบมาพระยาวิเศษภักดี (เถียนจ๋ง) มีบุตรชาย ๓ คน คือ ๑) เหี้ยง ต่อมาเป็นพระนเรนทรราชา ต้นตระกูลโรจนะหัสดิน ๒) แสง เป็นต้นตระกูล ณ สงขลา สายพระยาวิชิตภักดี (เวียง) บิดาพระศรีบุรีรัฐ (สิทธิ) บิดาขุนอายุรศาสตร์ (สุนี) และ ๓) เม่น ซึ่งภายต่อมา คือ เจ้าพระยาวิเชียรคีรี (เม่น) ผู้ว่าราชการเมืองสงขลาลำดับที่ ๖
พระยาวิเศษภักดี (เถียนจ๋ง) ว่าราชการเมืองสงขลาได้ ๗ ปี ได้สร้างอุโบสถที่วัดสุวรรณคีรี๔ แต่ยังมิทันสำเร็จก็ถึงแก่กรรม