บ้านส่วนตัวของพระยาสุนทรานุรักษ์ (เนตร์) ซึ่งเป็นอาคารตามแบบสถาปัตยกรรมจีน มีความสวยงาม โอ่โถง ซึ่งภายต่อมาได้ใช้เป็นจวนและว่าราชการของข้าหลวงพิเศษมณฑลนครศรีธรรมราชตรวจราชการเมืองสงขลา และศาลากลางจังหวัดจนถึงปี พ.ศ. ๒๔๙๖ และได้รับการบูรณะเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จังหวัดสงขลาในปัจจุบันพระยาสุนทรานุรักษ์ (เนตร์) เป็นบิดาของพระยาวิเชียรคีรี (ชม) ผู้ว่าราชการเมืองสงขลาลำดับที่ ๘ และพระอนันตสมบัติ (เอม) ผู้ช่วยราชการเมืองสงขลา ซึ่งเป็นบิดาของเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ (จิตร ณ สงขลา) เจ้าพระยาคนสุดท้ายแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ อดีตองคมนตรี ๓ รัชกาล อดีตรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ และพระยามานวราชเสวี (ปลอด ณ สงขลา) อดีตคณะผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน และองคมนตรี ๒ รัชกาล และมีผู้สืบเชื้อสาย เช่น พันเอก จินดา ณ สงขลา
อดีตเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ i was reading this.) นายแพทย์ญาใจ ณ สงขลา อดีตคณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศาสตราจารย์วิรัช ณ สงขลา และรุ่นต่อมา เช่น ดร. พิริยะ ไกรฤกษ์ ดร. จิตรพัฒน์ ไกรฤกษ์ รองราชเลขาธิการ

ธิดาของเจ้าพระยาวิเชียรคีรี (เม่น) กับท่านผู้หญิงสุทธิ์ ท่านหนึ่งมีนามว่าท่านปั้น ได้สมรสกับหลวงอุปการโกษากร (เวท วัชราภัย) และเป็นต้นกำเนิดลูกหลาน ณ สงขลา สายจารุจินดา จารุรัตน์ และวัชราภัย มีผู้สืบเชื้อสายและสร้างคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติ อาทิ พระยาลพนรินทรเรืองศักดิ์ราชสภาบดี (วงษ์ จารุจินดา) อดีตอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา หลวงชนานุกูลกิจ (จวง จารุจินดา) นายอำเภอบางรักคนแรก พล.ต.อ. เสริม จารุรัตน์ อดีตหัวหน้านายตำรวจประจำพระราชสำนัก ท่านผู้หญิงเชื้อชื่น บุนนาค ผู้สืบเชื้อสายจากพระยาพิจารณาปฤชามาตย์ (สุหร่าย วัชราภัย) และนายปรีชา วัชราภัย อดีตเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เป็นต้น

บุตรของเจ้าพระยาวิเชียรคีรี (เม่น) ผู้หนึ่งนามว่า นายปริ่ม รับราชการเป็นมหาดเล็กในพระบรมมหาราชวัง มีผู้สืบสกุล อาทิ (๑) นายเฉลิม ณ สงขลา บิดาของนายฉลู และ นายแพทย์ฉลอง ณ สงขลา และนางศุพัจไฉน  (ณ สงขลา) อัมพุประภา และ (๒) เจ้าแม่จำรัสศรี สมรสกับเจ้าแก้วเมืองไท ณ ลำปาง มีผู้สืบสกุล อาทิ เจ้าศรีรัตน์ ณ ลำปาง

บุตรของเจ้าพระยาวิเชียรคีรี (เม่น) อีกผู้หนึ่ง คือ พระกาญจนดิฐบดี (อวบ ณ สงขลา) ผู้ว่าราชการเมืองกาญจนดิฐ ซึ่งเป็นบิดาของหลวงอภิรมย์โกษากร (ดิษฐ ณ สงขลา) อดีตปลัดกรมพระคลังกลาง ผู้ช่วยปลัดทูลฉลอง และผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์คนแรก (พ.ศ. ๒๔๙๖) และเป็นบิดาของพลโท นายแพทย์ อมฤต ณ สงขลา อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า และอดีตเจ้ากรมแพทย์ทหารบก

 

 

Back to Top