บันทึกความภูมิใจไมตรี ตอนที่ 1
เยี่ยมคารวะประธานตระกูล ณ สงขลา สืบสานเกียรติภูมิเจ้าพระยาคนสุดท้ายของราชอาณาจักรไทย
สวัสดีครับ ญาติสายสกุล ณ สงขลาทุกท่าน
สายสกุล ณ สงขลา ของพวกเราไม่ว่าจะอยู่ในแห่งหนใด ล้วนมีความรักความผูกพัน และมีความภาคภูมิใจในเกียรติยศของตระกูลที่สืบเชื้อสายจาก ท่านเหยี่ยง แซ่เฮา พระยาสุวรรณคีรีสมบัติ เจ้าเมือง ณ สงขลา ในสายสกุลของพวกเราคนที่หนึ่ง ซึ่งท่านมีความวิริยะอุตสาหะ สืบเกียรติภูมิของตระกูล 呉 หรือออกเสียงว่า อู๋ เฮา ไหง้วโก๊ะ ที่สืบเชื้อสายจากประเทศจีนมาก่อนหน้านั้นหลายพันปี และสืบต่อมาถึงรุ่นพวกเรากว่า 250 ปี
คณะกรรมการ ชมรมสายสกุล ณ สงขลา รุ่นปี 2562-2564 เห็นถึงความสำคัญอย่างยิ่งในการส่งเสริมให้ญาติๆในสายสกุล ณ สงขลา ได้สัมผัสถึงความภาคภูมิใจในสายสกุล ซึ่งเป็นเรื่องที่สามารถส่งต่อถึงรุ่นลูกหลานได้ไม่สิ้นสุด จึงดำเนินกิจกรรมเข้าเยี่ยมคารวะผู้ใหญ่ในสายสกุล พร้อมขอเรียนรู้เรื่องราวที่จะนำมาเผยแพร่แก่ญาติๆในวงกว้างได้ต่อไป
ในวันการประชุมครั้งที่ 1 คณะกรรมการชมรมสายสกุล ณ สงขลา ได้มีโอกาสเข้าเยี่ยมคารวะ ท่านประธานตระกูล ณ สงขลา ดร.วินิตา ศุกรเสพย์ ที่บ้าน จิตตสุข ถนน สีลม ซึ่งเป็นที่พำนักหลักของท่านเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ (จิตร ณ สงขลา) ท่านเจ้าพระยาคนสุดท้ายของราชอาณาจักรไทย และรับราชการใน 5 แผ่นดิน โดย
รวมถึงตำแหน่งอันสำคัญยิ่งได้แก่ อดีตประธานศาลฎีกา เสนาบดีกระทรวงยุติธรรม รัฐมนตรีหลายกระทรวง ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้ดำรงตำแหน่งองคมนตรี และประธานองคมนตรี
ดร.วินิตา ได้ขอให้พวกเราเรียกท่านว่า “พี่แมว” เพื่อความสนิทสนม พี่แมวเล่าให้พวกเราฟังถึง
เหตุการณ์ในความทรงจำเกี่ยวกับท่านเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศว่า คุณตาเป็นคนซื่อสัตย์และจงรักภักดีมาก ในตระกูล ณ สงขลาที่มักกล่าวถึงท่าน คงเป็นเพราะท่านดำรงตำแหน่งสำคัญและเป็นเจ้าพระยา ในขณะที่น้องชาย ซึ่งเดินทางมาจากสงขลาในตอนเด็กด้วยกันกับคุณแม่คือพระยามานวราชเสวี กล่าวคือคุณทวดเชื้อพาลูกสองคนรอนแรมจากบ้านที่สงขลามาไกลถึงกรุงเทพ ท่านทั้งสองพี่น้อง มาเรียนหนังสือที่โรงเรียนอัสสัมชัญ ท่านเป็นคนที่สร้างตัวขึ้นมาเองตั้งแต่อายุน้อย จนในที่สุดขึ้นถึงตำแหน่งสูงสุดตามที่ปรากฏ ท่านมีความโดดเด่น เป็นเสนาบดีกระทรวงยุติธรรมและเป็นเจ้าพระยา
ในเรื่องครอบครัวที่เติบโตมาที่บ้านจิตตสุขนี้ คุณตามีลูก 11 คน ซึ่งคุณยายสุขภาพไม่ดีไม่น่าจะมีลูกได้ถึง 11 คน คุณแม่ คือคุณถนิต ไกรฤกษ์ เป็นลูกสาวคนโต ในช่วงที่คุณแม่และคุณพ่อพี่แต่งงานกัน เป็นเรื่องที่เก๋มากในสมัยนั้น เพราะลูกสาวเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ แต่งงานกับลูกชายเจ้าพระยามหิธร ตอนที่คุณแม่กับคุณพ่อแต่งงานกัน ก็ย้ายเข้ามาอยู่ที่บ้านที่สีลมนี้ ปัจจุบันเป็นบ้าน น้าหมอ ยาใจ ณ สงขลา ถัดจากที่เราอยู่ในวันนี้ไปสองหลัง พี่เองรู้สึกภูมิใจที่รับหน้าที่เป็นประธานตระกูล คุณแม่พี่มักจะเอาตัวพี่ไปอยู่ทางตระกูล ณ สงขลาตลอด ไม่ค่อยได้อยู่กับทางตระกูลไกรฤกษ์
ความสำเร็จของคุณตาทั้งหมดมาจากความพยายาม เป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับญาติในสายสกุล สิ่งประทับใจอีกอย่างในตระกูล ณ สงขลาคือ มีความสนิทสนมกันกับทุกคนง่ายมาก ตระกูล ณ สงขลามีความเป็นมิตร
สำหรับการทำงานของชมรมสายสกุล ณ สงขลา พี่เห็นว่าควรจะมีตารางว่าปีหนึ่งมีกิจกรรมอะไรบ้าง จะได้บอกกันตั้งแต่ต้นปีไปเลย จะได้ไม่มีการอ้างว่าไม่รู้ รู้กันแล้วตั้งแต่ต้น ทุกคนก็ควรจะเก็บเวลาเอาไว้ในปฏิทินของเรา จะได้มีความผูกพัน ที่จะได้มาเจอกัน มาทำงานร่วมกัน
พี่อยากจะเล่าให้พวกเราทราบไว้ว่าศูนย์กลางจริงๆในกรุงเทพฯ คือวัดสุทธิวราราม ในวัดสุทธิฯ มีห้องให้เราประชุมโดยไม่เสียสตางค์ด้วย ซึ่งพวกเราคงเคยไปใช้ ท่านเจ้าอาวาสดีมาก มีความเมตตา สำหรับคนที่มาจากต่างจังหวัดไม่มีที่พัก ท่านจัดที่พักให้ฟรี ท่านมีที่หลับที่นอนเปลี่ยนสะอาดให้หมดทุกอย่าง ให้พวกเราได้ทราบว่าวัดสุทธิฯ เป็นวัดของตระกูลจริงๆ พวกเราสามารถถือวัดสุทธิฯ เป็นศูนย์กลางการรวมการทำงานได้
สิ่งที่พี่อยากจะฝากถึงญาติๆในสายสกุล ณ สงขลา ว่าควรจะมาร่วมกันมากขึ้น เพราะในขณะนี้คนที่มาร่วมกิจกรรม มักจะเป็นคนเดิมๆ คนที่มาก็มา คนที่ไม่มาก็ไม่มา เพราะฉะนั้น หากเรารู้ว่าปีหนึ่งจะมีอะไรบ้าง เราก็คงจะมาร่วมได้มากขึ้น
อีกประการคือเราควรจะรักกัน เพราะสายสกุลของเราก็มีกันอยู่เช่นนี้ ดีใจที่กรรมการในปีนี้ดูหน้าตาอายุน้อยๆกันอยากให้พวกเราช่วยเหลือกัน
สุดท้ายนี้ ขออวยพรถึงญาติๆสายสกุล ณ สงขลาให้ความสำเร็จเกิดขึ้นกับทุกคน ทั้งงานส่วนตัว งานราชการ และงานที่ทำให้สายสกุล ณ สงขลา ขอให้มีความสำเร็จทั้งสามอย่างค่ะ
—-
ในโอกาสที่ได้เข้าไปกราบคารวะผู้ใหญ่ในสายสกุล ณ สงขลานี้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเรื่องราวที่ท่านได้ถ่ายทอดจะช่วยให้พวกเราในสายสกุลจะรู้สึกภาคภูมิใจและรู้สึกใกล้ชิดสนิทสนมกันยิ่งขึ้นไม่ว่าตัวพวกเราจะอยู่ที่ใดก็ตาม และยังเป็นเรื่องราวที่สามารถส่งต่อถึงลูกหลานในรุ่นถัดไป ซึ่งจะขึ้นมาเป็นกำลังสำคัญให้กับสายสกุลอีกในอนาคตต่อไป
ดร. เอกพล ณ สงขลา