เรื่องเล่าจากทางบ้าน
เรื่องเล่าตระกูล ณ สงขลา สาย ณ ถลาง (ตอนที่ 2.2)
ตอนที่ 2.2 เชื้อสายของหลวงเทพอาญา
ตามที่ได้กล่าวมาแล้วว่าหลวงเทพอาญาเป็นเชื้อสายคนแรกของพระปลัดเมืองสงขลา ต้นตระกูล ณ สงขลา สาย ณ ถลาง และต่อมามีเชื้อสายที่สืบต่อจากท่านอีกเป็นจำนวนมาก เพื่อให้เรื่องเล่านี้สมบูรณยิ่งขึ้น ผู้เขียนจะขอจัดลำดับเชื้อสายของหลวงเทพอาญาเป็น รุ่น ๆ เช่น รุ่น ลูก หลาน เหลน และ โหลน เป็นต้น
หลวงเทพอาญา สมรส กับ "แม่นายจวง" มีบุตรสืบสายโลหิต 6 คน คือ
1. นางแนม ณ สงขลา
2. ขุนจำนงค์นรากิจ (ชร ณ สงขลา) สมรสกับนางผัดและนางสุ่น
3. นางอ้น ณ สงขลา
4. นางพินิจนรากร (เจิม ณ สงขลา) สมรสกับ พระพินิจนรากร
5. คุณหญิงสุรกานต์ประทีปแก้ว (ตาด ณ สงขลา) สมรสกับพระยาสุรกานต์ประทีปแก้ว (หนิ) บุตร พระยาวิเชียรคีรี(ชม)
6. นายสุดใจ ณ สงขลา สมรสกับ นางพุ่มและนางเริง
เล่าเรื่องจากบ้าน คุณสุเทพ ณ สงขลา ตอนที่ 3
“เข้าเฝ้าฯ รัชกาลที่ 6”
เรื่องเล่าจากบ้าน ณ สงขลาวันนี้ จะขอนำเรื่องที่คุณลุงสุเทพ ณ สงขลา บุตรพระยาอภิรักษ์ราชอุทยาน (ทิตย์ ณ สงขลา) ได้เคยเล่าให้ผมฟัง มาเล่าให้ญาติๆ ฟัง แต่เนื่องจากเป็นการเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นเมื่อ 100 กว่าปีที่แล้ว ผมจึงได้ใช้ข้อมูลจากหนังสืออนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พันเอก พร้อมศักดิ์ ณ สงขลา ประกอบด้วย
คุณลุงสุเทพเล่าว่า เจ้าคุณพ่อรับราชการ มีความเจริญก้าวหน้าจนได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระพฤกษาภิรมย์ เจ้ากรมสวนหลวง ในปี พ.ศ.2453 ต่อมาได้เลื่อนขึ้นเป็นพระยาพฤกษาภิรมย์ ในปี พ.ศ.2456 และได้เป็นพระยาอภิรักษ์ราชอุทยาน ในปี พ.ศ.2461 มีหน้าที่รับผิดชอบในการดูแลสวนทุกแห่งในพระราชวังทั้งในและนอกพระนคร ให้มีความสง่างามสมพระเกียรติยศ เนื่องจากเจ้าคุณพ่อจบวิชาเกษตรและการทำสวนจากประเทศอังกฤษ
พระยาอภิรักษ์ฯ ได้ถวายงานรับใช้เบื้องพระยุคลบาทรัชกาลที่ 6 ทั้งงานประจำในฐานะเจ้ากรมสวนหลวง และหน้าที่ราชการในกองเสือป่า ที่ทรงริเริ่มโดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นผู้ช่วยยกกระบัตรเสือป่า กองเสือป่าเสนาหลวง และได้เข้าเฝ้าฯ ถวายงานอย่างใกล้ชิดและเป็นที่โปรดปรานเสมอมา จนถึงปลายรัชสมัยจึงได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นองคมนตรี (พ.ศ.2465)
เรื่องเล่าตระกูล ณ สงขลา สาย ณ ถลาง (ตอนที่ 2) (ต่อ)
ตอนที่ 2 เชื้อสายของตระกูล ณ สงขลา สาย ณ ถลาง
2.1 หลวงเทพอาญา
เชื้อสายคนแรกของตระกูล ณ สงขลา สาย ณ ถลางคือหลวงเทพอาญา ดังนั้นท่านจึงเป็นคนสำคัญของตระกูลนี้
วันนี้จะขอเล่าเรื่องราวของหลวงเทพอาญา ซึ่งท่านเป็นคุณทวดของผู้เขียนและของญาติ ณ สงขลา สาย ณ ถลางทุกคนในรุ่นเหลนสำหรับคุณทวดนั้นผู้เขียนรู้สึกว่าท่านอยู่ใกล้ๆตัวเราเสมอ เพราะมีท่านจึงมีเรา ดังนั้นจึงรู้สึกอบอุ่นใจเมื่อนึกถึงท่าน อีกทั้งมีความปิติยินดีที่มีท่านเป็นคุณทวดของเรา หลวงเทพอาญา เป็นนักกฎหมายเจริญรอยตามบิดา คือพระปลัดเมืองสงขลา ท่านรับราชการในสมัยเจ้าพระยาวิเชียรคีรี(เม่่น) เป็นเจ้าเมืองสงขลา(พ.ศ. 2408 -- 2427) ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าฝ่ายกฎหมายประจำเมืองสงขลา และเป็นทนายแผ่นดิน ตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายสมัยนั้นเรียกว่า " จอม" ท่านจึงมีชื่อเรียกอีกชื่อว่า "จอมเทพอาญา" แต่คนทั่วไปมักจะเรียกสั้น ๆ ว่า "จอมเทพญา" หลวงเทพอาญา ได้สมรสกับ"แม่นายจวง"(เรียกขื่อตามญาติผู้ใหญ่) ธิดาของเจ้าพระยาวิเชียรคีรี(เม่น) ที่เกิดจาก"แม่นายแป้น" ชาวเกาะใหญ่ ญาติผู้ใหญ่เล่าว่า เจ้าพระยาวิเชียรคีรี(เม่น)ไปตรวจราชการที่เกาะใหญ่แล้วได้พบเจอกับแม่นายแป้น ครอบครัวของหลวงเทพอาญา เดิมพักอาศัยอยู่ในบริเวณจวนเจ้าเมืองสงขลา แต่ต่อมาเมื่อพระยาสุนทรานุรักษ ์(เนตร์) บุตรชายของเจ้าพระยาวิเชียรคีรี(เม่น) มีดำริจะสร้างจวนเจ้าเมืองใหม่ หลวงเทพอาญาจึงได้รับมอบที่ดินซึ่งอยู่ไม่ไกลจากจวนเจ้าเมือง ที่ดินด้านหนึ่งติดถนนหน้าวัดไทรงาม อีกด้านหนึ่งติดถนนหน้าวัดแจ้ง(สายเก่า) โดยท่านได้สร้างบ้านพักอาศัยอยู่ ณที่แห่งนี้ และปัจจุบันก็ยังคงมีเชื้อสายบางคนของท่านอาศัยอยู่ สิ่งที่ลูกหลานถือเป็นเกียรติประวัติและภาคภูมิใจมากก็คือ หลวงเทพอาญาและแม่นายจวงได้รับมอบภาพวาดขนาดใหญ่ พร้อมทั้งใส่กรอบเรียบร้อย เป็นภาพเจ้าพระยาวิเชียรคีรี (เม่น) 1ภาพ วาดจากรูปถ่ายครึ่งตัวแต่งตัวเต็มยศและระบายสีใส่กรอบไม้รุ่นเก่าคาดกันว่าเป็นภาพวาดต้นฉบับของบรรพบุรุษในตระกูล ณ สงขลา ที่เก่าแก่ที่สุดที่ค้นพบในปัจจุบัน อีก 2 ภาพเป็นภาพวาดของพระยาสุนทรานุรักษ์ บุตรของเจ้าพระยาวิเชียรคีรี(เม่น) ซึ่งได้รับตราตติยจุลจอมเกล้าสืบตระกูลโดยจะได้เป็นเจ้าเมืองสืบต่อจากท่านบิดา แต่ท่านได้ถึงแก่อนิจกรรมเสียก่อน ทั้ง 2 ภาพเป็นภาพสีวาดจากภาพถ่ายครึ่งตัว ภาพหนึ่งอยู่ในวัยกลางคน อีกภาพดูอาวุโสกว่า และภาพที่สี่เป็นภาพวาดสีถ่านขาวดำของคุณหญิงพับ ซึ่งเป็นภริยาของพระยาุสุุนทรานุรักษ์ุ่(เนตร์) เป็นภาพใหญ่เหมือนกัน ใส่กรอบไม้ลวดลายงดงามมาก (ภาพทั้งหมดท่านผู้อ่านจะได้เห็นในตอนท้าย)
เล่าเรื่องจากบ้าน คุณสุเทพ ณ สงขลา ตอนที่ 2
“จี้ทองคำ “จปร” พระราชทาน”
ตอนที่ 2 นี้เป็นการเล่าจากความทรงจำของคุณทิพวรรณ (ณ สงขลา) เจียระกิจ บุตรสาวคนโตของคุณลุงสุเทพ ณ สงขลา กับคุณป้ายุพเยาว์ ณ สงขลา ซึ่งผมเรียกคุณทิพวรรณว่า “พี่ทิพ” จนติดปาก พี่ทิพเล่าให้ฟังว่า ของขวัญที่เจ้าคุณปู่ - พระยาอภิรักษ์ราชอุทยาน (ทิตย์ ณ สงขลา) มอบให้คุณพ่อ แล้วทำให้คุณพ่อดีใจและปลาบปลื้มใจมากเป็นที่สุดก็คือ จี้ทองคำจารึกพระปรมาภิไธยย่อ “จปร” เพราะเป็นจี้ที่คุณพ่อเล่าว่า เจ้าคุณปู่ได้รับพระราชทานจาก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เมื่อได้รับมาแล้ว คุณพ่อได้เก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี ด้วยความรัก หวงแหน และเทิดทูน จนเมื่อคุณพ่อถึงแก่กรรม คุณแม่ (ซึ่งถึงแก่กรรมก่อนคุณพ่อ) และพี่ทิพตั้งใจจะมอบจี้ทองคำนี้ให้แก่คุณดนตรี ณ สงขลาน้องชายคนสุดท้อง แต่คุณดนตรีถึงแก่กรรมก่อนคุณพ่อ จึงได้มอบให้แก่ทายาทของคุณดนตรีเก็บรักษาไว้เพื่อเป็นเกียรติยศแก่ครอบครัว ณ สงขลาของเรา พี่ทิพเล่าต่อไปว่า เจ้าคุณปู่ยังได้มอบจี้เงินจารึกพระปรมาภิไธยย่อ “จปร” แก่คุณอาเล็ก ณ สงขลาบุตรชายคนสุดท้องของเจ้าคุณปู่ และเป็นน้องชายของคุณพ่ออีกด้วย (คุณอาเล็กเป็นคุณพ่อของ พี่อัศ - อัศวิน ณ สงขลาและคุณแสน - ชัยยุทธ ณ สงขลา สองพี่น้องผู้ให้ความบันเทิงและเสียงเพลงแก่ตระกูล ณ สงขลา มานานนับหลายสิบปี) รวมทั้งคุณพ่อยังเล่าต่อไปอีกว่า เจ้าคุณปู่มีบุญวาสนาดีที่มีโอกาสได้เข้าเฝ้า ฯ รัชกาลที่ 5 หลายครั้ง
เรื่องเล่าตระกูล ณ สงขลา สาย ณ ถลาง (ตอนที่ 1.2) (ต่อ)
ตอนที่ 1.2 บรรพบุรุษของพระปลัดเมืองสงขลา (ต่อ)
2) เจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์(อู่) เป็นบิดาของเจ้าพระยาสุรินทราชา
พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมสมเด็จพระยาดำรงราชานุภาพ(2405 - 2486)ทรงสนพระทัยเรื่องราวของเจ้าพระยาสุรินทราชามาก จึงได้ค้นคว้าเพื่อสืบหาเชื้อสายของท่าน และพบว่าบิดาของเจ้าพระยาสุรินทราชาคือเจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ และท่านยังให้ช่วยกันสืบหาเชื้อสายรุ่นต่อไปอีกด้วยภรรยาเอกของเจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์คือท่านผู้หญิงน้อย เป็นพี่พระมารดาเจ้าขรัวเงินซื่งเป็นพระภัสดาในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ (พระพี่นางองค์รองในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช) และทรงมีพระธิดาซึ่งภายหลังคือ สมเด็จพระศรีสุริเยนทราพระบรมราชินีในรัชกาลที่2 และเป็นพระราชชนนีของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว และท่านผู้หญิงน้อยนี้เป็นมารดาของเจ้าพระยาสุรินทราชา เจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ เป็นขุนนางคู่บารมีพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ และเป็นขุนนางคนสำคัญที่ทำให้พระองค์ได้ครองราชสมบัติ เป็นกษัตริย์องค์ที่ 31 แห่งกรุงศรีอยุธยา เจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์มีตำแหน่งเป็นโกษาธิบดีซึ่งมีอำนาจมาก เพราะนอกจากจะดูแลการคลังและกระทรวงต่างประเทศแล้ว ยังดูแลหัวเมืองฝ่ายตะวันออกที่เป็นเมืองท่าด้วย เช่นจันทบุรี ตราด ระยอง ชลบุรี สมุทรสาคร และสมุทรสงครามด้วย และเมื่อพระสมุหกลาโหมทำความผิดพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศก็ได้โอนหัวเมืองที่อยู่ทางใต้เพชรบุรี และเมืองฝั่งอ่าวไทย เมืองมะริด ทวาย และตะนาวศรี ให้อยู่ในความดูแลของเจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ด้วย เป็นที่ทราบกันดีว่าเจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ เป็นคนโปรดของพระเจ้าแผ่นดิน และทรงไว้วางพระทัยมาก ทำผิดก็ไม่ถูกลงโทษ เช่นครั้งหนึ่งเจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์และเจ้าพระยาราชภักดีถูกกล่าวหาว่าทำผิดในเรื่องเดียวกัน เจ้าพระยาราชภักดีถูกโบยหลัง 20 ที แต่เจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์โปรดให้ภาคทัณฑ์ อันที่จริงเจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์เป็นที่โปรดปรานมานานตั้งแต่เมื่อครั้งเป็นขุนชำนาญ โดยที่ขณะนั้นพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศยังเป็นกรมพระราชวังบวรฯอยู่ ขุนชำนาญได้ถูกเจ้าพระยาพระคลังกล่าวโทษและถูกสอบสวนต่อหน้าพระพักตร์พระเจ้าอยู่หัวท้ายสระซึ่งเป็นพระเจ้าแผ่นดินสมัยนั้น และด้วยความช่วยเหลือของกรมพระราชวังบวรฯ ทำให้ขุนชำนาญไม่ได้รับโทษ
เจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อปี พ.ศ 2295 พระเจ้าบรมโกศก็โปรดให้เกียรติเสมอเจ้า โดยพระราชทานเครื่องชฎาให้แต่งศพ และให้เรียกศพว่า " พระศพ " ซึ่งนับเป็นเกียรติสูงสุดที่คนธรรมดาคนหนึ่งจะได้รับ