เรื่องเล่าตระกูล ณ สงขลา สาย ณ ถลาง (ตอนที่ 1.2)
ตอนที่ 1.2 บรรพบุรุษของพระปลัดเมืองสงขลา
เนื่องจากพระปลัดเมืองสงขลาไม่ได้มีพื้นเพเป็นคนสงขลา จึงอาจไม่มีใครรู้จักวงศาคณาญาติของท่านเลย มันจึงเหมือนมีเมฆหมอกมืดมัวมาบดบังตัวท่าน ทำให้รู้สึกคลุมเครือในความเป็นตัวตนของท่าน ดังนั้นเพื่อความกระจ่างชัด ผู้เขียนจึงใคร่ขอเปิดเผยถึงวงศ์วานว่านเครือของท่านหรือบรรพบุรุษที่สืบสายโลหิตต่อกันมานับได้ถึง 5 ลำดับชั้น ดังนี้
1) เจ้าพระยาสุรินทราชา(จันท์) เป็นบิดาของพระยาถลาง(ฤกษ์) และพระปลัดเมืองสงขลา เกิดที่กรุงศรีอยุธยา และเข้ารับราชการในช่วงปลายของกรุงศรีอยุธยา เป็นมหาดเล็กเป็นที่หลวงนายฤทธิ์นายเวร ภรรยาเป็นหลานของหลวงนายสิทธินายเวร (หลวงนายฤทธิ์และหลวงนายสิทธิ์เป็นบรรดาศักดิ์ ส่วนนายเวรเป็นตำแหน่ง) หลวงนายสิทธิ์เป็นบุตรเขยของเจ้าพระยานครศรีธรรมราช เดิมชื่อพัฒน์ เมื่อกรุงศรีอยุธยาใกล้แตก หลวงนายฤทธิ์และหลวงนายสิทธิ์ได้กลับไปเมืองนครศรีธรรมราชโดยหลวงนายสิทธิ์ประกาศตั้งตนเองเป็นเจ้าพระยานครศรีธรรมราช และเห็นว่าหลวงนายฤทธิ์มีความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องขนบธรรมเนียมและราชประเพณีเป็นอย่างดี หลังเสียกรุงจึงแต่งตั้งให้เป็นพระอุปราชเมืองนครศรีธรรมราช ต่อมาพระเจ้ากรุงธนบุรี ตีได้เมืองนครศรีธรรมราช จึงได้นำตัวเจ้าพระยานครและพระอุปราชไปยังกรุงธนบุรี แต่ไม่ได้ลงโทษ กลับให้รับราชการ โดยแต่งตั้งให้พระอุปราชเป็นพระยาอินทรอัคราช พอมาถึงสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ได้รับแต่งตั้งเป็นพระยาสุรินทราชา และในพ.ศ. 2329 ได้โปรดเกล้าให้ออกไปเป็นข้าหลวงผู้สำเร็จราชการหัวเมืองชายฝั่งทะเลตะวันตก 8 หัวเมืองคือ ถลาง ภูเก็ต พังงา ตะกั่วป่า ตะกั่วทุ่ง คุระ คุรอด และเกาะรา โดยตั้งกองบัญชาการที่เมืองถลาง และท่านได้ย้ายครอบครัวลงไปด้วย ต่อมาท่านได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าพระยาสุรินทราชา ผู้มีอำนาจเต็ม
ในสมัยนั้นหัวเมืองทั้ง 8 มีลักษณะเป็นเมืองชายขอบ ที่ค่อนข้างมีอิสระในการปกครองตนเอง เจ้าพระยาสุรินทราชาได้เข้าไปจัดระบบการปกครองใหม่ โดยดึงอำนาจจากหัวเมืองทั้ง 8 เข้าสู่ส่วนกลางที่ราชธานี จนทำให้หัวเมืองเหล่านั้นกลายเป็นหัวเมืองที่ขึ้นกับราชธานีในตอนต้นของกรุงรัตนโกสินทร์อย่างแท้จริง มีการจัดเก็บภาษีแร่ดีบุกซึ่งมีอยู่มากมายทุกหัวเมือง ได้เงินเข้าสู่ท้องพระคลังอย่างมหาศาล มีการตัดถนนเพื่อให้มีความสะดวกในการคมนาคม การส่งภาษีและทรัพย์สินเข้าสู่ส่วนกลาง เมื่อ พ.ศ. 2337 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้โปรดเกล้าให้เจ้าพระยาสุรินทราชาเข้ากรุงเทพเพื่อแต่งตั้งให้เป็นที่พระสมุหพระกลาโหม แต่ท่านกราบทูลขอตัวว่าชราแล้ว ต้องการทำงานที่เดิมเพื่อทำภารกิจที่คั่งค้างคือการตัดถนนให้สำเร็จ จะได้ขนย้ายพระราชทรัพย์เข้าสู่ส่วนกลางได้สะดวก เจ้าพระยาสุรินทราชาถึงแก่อนิจกรรมเมื่อปี พ.ศ.2350 รวมเวลาที่ท่านว่าราชการที่หัวเมืองชายทะเลฝั่งตะวันตก 21 ปี เจ้าพระยาสุรินทราชา มีบุตรหลายคน แต่จะกล่าวถึงบางคนที่เป็นเจ้าเมืองปกครองในภาคใต้ ได้แก่
- จุ้ย เป็นพระยาอภัยบริรักษ์ ( พระยาพัทลุง)
- ฤกษ์ เป็นพระยาณรงค์เรืองฤทธิ์ประสิทธิสงคราม (พระยาถลาง)
- อิน เป็นบิดาของพระยาวรวุฒิไวย(น้อย) ซึ่งเป็นพระยาพัทลุงด้วย และเป็นบิดาของคุณหญิงเพชราภิบาลนฤเบศร์ ซึ่งเป็นภริยาพระยาหนองจิก (พ่วง ณ สงขลา)
ต่อมาพระยาอภัยบริรักษ์(เนตร) บุตรพระยาวรวุฒิไวย(น้อย) ได้รับพระราชทานนามสกุล "จันทโรจน์วงศ์" สำหรับผู้สืบสายโลหิตโดยตรงจากเจ้าพระยาสุรินทราชา(จันท์) ดังนั้นพระยาถลางและปลัดเมืองสงขลาก็มีสิทธิ์ใช้นามสกุลนี้ และยังมีผู้ได้รับพระราชทานนามสกุล ณ ถลาง สายพระยาถลาง(ฤกษ์) ด้วย ดังนั้นพระยาถลาง(ฤกษ์)และพระปลัดเมืองสงขลาจึงมีสิทธิ์ใช้ทั้ง 2 นามสกุล ซึ่งขึ้นอยู่กับลูกหลานว่าจะให้ใช้นามสกุลใด เพราะท่านไม่สามารถลุกขึ้นมาโต้แย้งได้
______________
จบตอนที่ 1.2 ข้อ 1) เจ้าพระยาสุรินทราชา ตอนต่อไปจะกล่าวถึงบรรพบุรุษคนที่ 2) ถึง 5)
บรรพบุรุษคนที่ 2 เป็นบิดาของเจ้าพระยาสุรินทราชาและเป็นเจ้าพระยาในสมัยกรุงศรีอยุธยา ที่พระเจ้าแผ่นดินโปรดมาก โดยที่เมื่อทำผิดก็ไม่ถูกลงโทษ เชิญติดตามตอนต่อไปค่ะ
เครดิต: ผศ. มยุรี เลื่อนราม