เรื่องเล่าตระกูล ณ สงขลา สาย ณ ถลาง (ตอนที่ 2) (ต่อ)

ตอนที่ 2 เชื้อสายของตระกูล ณ สงขลา สาย ณ ถลาง

2.1 หลวงเทพอาญา

เชื้อสายคนแรกของตระกูล ณ สงขลา สาย ณ ถลางคือหลวงเทพอาญา ดังนั้นท่านจึงเป็นคนสำคัญของตระกูลนี้
วันนี้จะขอเล่าเรื่องราวของหลวงเทพอาญา ซึ่งท่านเป็นคุณทวดของผู้เขียนและของญาติ ณ สงขลา สาย ณ ถลางทุกคนในรุ่นเหลนสำหรับคุณทวดนั้นผู้เขียนรู้สึกว่าท่านอยู่ใกล้ๆตัวเราเสมอ เพราะมีท่านจึงมีเรา ดังนั้นจึงรู้สึกอบอุ่นใจเมื่อนึกถึงท่าน อีกทั้งมีความปิติยินดีที่มีท่านเป็นคุณทวดของเรา หลวงเทพอาญา เป็นนักกฎหมายเจริญรอยตามบิดา คือพระปลัดเมืองสงขลา ท่านรับราชการในสมัยเจ้าพระยาวิเชียรคีรี(เม่่น) เป็นเจ้าเมืองสงขลา(พ.ศ. 2408 -- 2427) ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าฝ่ายกฎหมายประจำเมืองสงขลา และเป็นทนายแผ่นดิน ตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายสมัยนั้นเรียกว่า " จอม" ท่านจึงมีชื่อเรียกอีกชื่อว่า "จอมเทพอาญา" แต่คนทั่วไปมักจะเรียกสั้น ๆ ว่า "จอมเทพญา" หลวงเทพอาญา ได้สมรสกับ"แม่นายจวง"(เรียกขื่อตามญาติผู้ใหญ่) ธิดาของเจ้าพระยาวิเชียรคีรี(เม่น) ที่เกิดจาก"แม่นายแป้น" ชาวเกาะใหญ่ ญาติผู้ใหญ่เล่าว่า เจ้าพระยาวิเชียรคีรี(เม่น)ไปตรวจราชการที่เกาะใหญ่แล้วได้พบเจอกับแม่นายแป้น ครอบครัวของหลวงเทพอาญา เดิมพักอาศัยอยู่ในบริเวณจวนเจ้าเมืองสงขลา แต่ต่อมาเมื่อพระยาสุนทรานุรักษ ์(เนตร์) บุตรชายของเจ้าพระยาวิเชียรคีรี(เม่น) มีดำริจะสร้างจวนเจ้าเมืองใหม่ หลวงเทพอาญาจึงได้รับมอบที่ดินซึ่งอยู่ไม่ไกลจากจวนเจ้าเมือง ที่ดินด้านหนึ่งติดถนนหน้าวัดไทรงาม อีกด้านหนึ่งติดถนนหน้าวัดแจ้ง(สายเก่า) โดยท่านได้สร้างบ้านพักอาศัยอยู่ ณที่แห่งนี้ และปัจจุบันก็ยังคงมีเชื้อสายบางคนของท่านอาศัยอยู่ สิ่งที่ลูกหลานถือเป็นเกียรติประวัติและภาคภูมิใจมากก็คือ หลวงเทพอาญาและแม่นายจวงได้รับมอบภาพวาดขนาดใหญ่ พร้อมทั้งใส่กรอบเรียบร้อย เป็นภาพเจ้าพระยาวิเชียรคีรี (เม่น) 1ภาพ วาดจากรูปถ่ายครึ่งตัวแต่งตัวเต็มยศและระบายสีใส่กรอบไม้รุ่นเก่าคาดกันว่าเป็นภาพวาดต้นฉบับของบรรพบุรุษในตระกูล ณ สงขลา ที่เก่าแก่ที่สุดที่ค้นพบในปัจจุบัน อีก 2 ภาพเป็นภาพวาดของพระยาสุนทรานุรักษ์ บุตรของเจ้าพระยาวิเชียรคีรี(เม่น) ซึ่งได้รับตราตติยจุลจอมเกล้าสืบตระกูลโดยจะได้เป็นเจ้าเมืองสืบต่อจากท่านบิดา แต่ท่านได้ถึงแก่อนิจกรรมเสียก่อน ทั้ง 2 ภาพเป็นภาพสีวาดจากภาพถ่ายครึ่งตัว ภาพหนึ่งอยู่ในวัยกลางคน อีกภาพดูอาวุโสกว่า และภาพที่สี่เป็นภาพวาดสีถ่านขาวดำของคุณหญิงพับ ซึ่งเป็นภริยาของพระยาุสุุนทรานุรักษ์ุ่(เนตร์) เป็นภาพใหญ่เหมือนกัน ใส่กรอบไม้ลวดลายงดงามมาก (ภาพทั้งหมดท่านผู้อ่านจะได้เห็นในตอนท้าย)

ภาพเหล่านี้ได้ตกทอดมาถึงบุตรชายคนโตของหลวงเทพอาญา คือขุนจำนงค์นรากิจ(ชร ณ สงขลา) ซึ่งได้แขวนภาพทั้งหมดนี้ไว้เหนือขอบหน้าต่างที่ห้องหน้ามุข ซึ่่งอยู่ต่อจากห้องรับแขก ความสูงของภาพเกือบจดเพดานห้อง เป็นภาพขนาดใหญ่เท่าๆกันทุกภาพ มองเห็นแต่ไกลได้ชัดเจน แลดูงามสง่าน่าเกรงขาม ลูกหลานมองภาพเหล่านี้ด้วยความเคารพทำให้รู้สึกอบอุ่นใจ รู้สึกเป็นเกียรติ และมีความภาคภูมิใจ ที่ได้รับความเมตตาจากท่านเจ้าของภาพที่มอบภาพเหล่านี้ให้ สำหรับผู้เขียนได้เห็นภาพเหล่านี้เมื่อตอนอายุ10ขวบ เมื่อครั้งมาเรียนหนังสือที่สงขลาและ พักอาศัยที่บ้านคุณตาขุนจำนงค์ ๚ เมื่อเห็นภาพเหล่านี้ก็รู้สึกตื่นเต้น เพราะภาพใหญ่มาก บางภาพแต่งตัวเต็มยศมีเหรียญตรา ก็คิดว่าคงเป็นเจ้านายชั้นสูงและนึกในใจว่าเป็นภาพคนโบราณมากๆ ไม่ทราบสมัยไหน ผู้ใหญ่ก็แนะนำภาพแต่ละภาพว่าเป็นใครบ้าง เราก็ฟังแต่ก็จำไม่ได้ เพราะรู้สึกว่าห่างไกลตัวเองเหลือเกิน ผู้เขียนอยู่บ้านนี้ 8 ปี ได้เห็นภาพเหล่านี้ทุกวันจนชินตา ต่อมาก็ออกจากบ้านไปเรียนต่อที่อื่น เรียนจบแล้วก็ทำงาน ไม่ได้เห็นภาพเหล่านั้นนานหลายปี อยู่มาวันหนึ่งมีคนส่งหนังสือชื่ืืือ สมุดภาพโรงเรียนมหาวชิราวุธ จัดทำโดย เอนก นาวิกมูล มาให้ มีภาพเกี่ยวกับบ้านเมืองสงขลาและผู้คนสมัยโบราณ เราก็เปิดหนังสือดูไปเรื่อยๆ พอมาถีงหน้าหนึ่งก็รู้สึกสะดุดตามากกับรูปภาพที่เห็น รู้สึกว่าเราคุ้นชินกับภาพหล่านี้เหลือเกิน แต่นึกไม่ออกว่าเห็นที่ไหน สักครู่ก็นึกขึ้นมาได้ว่าเห็นที่บ้านคุณตาขุนจำนงค์๚นั่นเอง แต่ก็ยังงงว่าแล้วรูปเหล่านี้เข้ามาอยู่ในหนังสือเล่มนี้ได้อย่างไร พออ่านคำบรรยายภาพก็พบว่า คุณป้าซึ่งเป็นบุตรีของคุณตาขุนจำนงค์นรากิจ เป็นผู้มอบให้แก่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติสงขลา คือ คุณป้า อินทิรา( ณ สงขลา) นิตยวิมล และ คุณป้า ผะอบ (ณ สงขลา) จิตตัค คานนท์ ซึ่งผู้เขียนก็รู้สึกยินดีและภูมิใจมาก

จบเรื่องเล่าหลวงเทพอาญา ผู้เขียนในฐานะเหลนของท่านและเหลนคน
อื่นๆรวมทั้งโหลนทุกคนขอกราบคารวะท่านทวดหลวงเทพอาญาด้วยความเคารพสูงสุด
_____________________

( ผศ.มยุรี เลื่อนราม )
ข้อมูล
~จากญาติเล่าให้ฟัง
~จากประสบการณ์ของผู้เขียนโดยตรง
~ หนังสือเกียรติประวัติตระกูล ณ สงขลา

 

Back to Top