เล่าเรื่องจากบ้าน คุณสุเทพ ณ สงขลา ตอนที่ 2

“จี้ทองคำ “จปร” พระราชทาน”

    


ตอนที่ 2 นี้เป็นการเล่าจากความทรงจำของคุณทิพวรรณ (ณ สงขลา) เจียระกิจ บุตรสาวคนโตของคุณลุงสุเทพ ณ สงขลา กับคุณป้ายุพเยาว์ ณ สงขลา ซึ่งผมเรียกคุณทิพวรรณว่า “พี่ทิพ” จนติดปาก พี่ทิพเล่าให้ฟังว่า ของขวัญที่เจ้าคุณปู่ - พระยาอภิรักษ์ราชอุทยาน (ทิตย์ ณ สงขลา) มอบให้คุณพ่อ แล้วทำให้คุณพ่อดีใจและปลาบปลื้มใจมากเป็นที่สุดก็คือ จี้ทองคำจารึกพระปรมาภิไธยย่อ “จปร” เพราะเป็นจี้ที่คุณพ่อเล่าว่า เจ้าคุณปู่ได้รับพระราชทานจาก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เมื่อได้รับมาแล้ว คุณพ่อได้เก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี ด้วยความรัก หวงแหน และเทิดทูน จนเมื่อคุณพ่อถึงแก่กรรม คุณแม่ (ซึ่งถึงแก่กรรมก่อนคุณพ่อ) และพี่ทิพตั้งใจจะมอบจี้ทองคำนี้ให้แก่คุณดนตรี ณ สงขลาน้องชายคนสุดท้อง แต่คุณดนตรีถึงแก่กรรมก่อนคุณพ่อ จึงได้มอบให้แก่ทายาทของคุณดนตรีเก็บรักษาไว้เพื่อเป็นเกียรติยศแก่ครอบครัว ณ สงขลาของเรา พี่ทิพเล่าต่อไปว่า เจ้าคุณปู่ยังได้มอบจี้เงินจารึกพระปรมาภิไธยย่อ “จปร” แก่คุณอาเล็ก ณ สงขลาบุตรชายคนสุดท้องของเจ้าคุณปู่ และเป็นน้องชายของคุณพ่ออีกด้วย (คุณอาเล็กเป็นคุณพ่อของ พี่อัศ - อัศวิน ณ สงขลาและคุณแสน - ชัยยุทธ ณ สงขลา สองพี่น้องผู้ให้ความบันเทิงและเสียงเพลงแก่ตระกูล ณ สงขลา มานานนับหลายสิบปี) รวมทั้งคุณพ่อยังเล่าต่อไปอีกว่า เจ้าคุณปู่มีบุญวาสนาดีที่มีโอกาสได้เข้าเฝ้า ฯ รัชกาลที่ 5 หลายครั้ง

เมื่อพูดถึงการเข้าเฝ้า ฯ รัชกาลที่ 5 ของพระยาอภิรักษ์ฯ จัมโบ้เอ - คุณณัฐพล ณ สงขลา (คุณปู่ของจัมโบ้เอ พันเอกถัด ณ สงขลา เป็นพี่ชายร่วมบิดามารดาของคุณลุงสุเทพ) ได้เขียนไว้ในหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พันเอก พร้อมศักดิ์ ณ สงขลา คุณพ่อของจัมโบ้เอ ความว่า “อันที่จริงแล้วคุณทิตย์ได้มีวาสนาเคยเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แล้วหลายครั้ง ครั้งหนึ่ง ดังที่เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์ หรือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงศรีรัตนโกสินทร์ ทรงกล่าวในพระนิพนธ์เรื่อง บันทึกรายวันในการตามเสด็จพระราชดำเนินประพาสเกาะชวาครั้งที่ 2 ร.ศ. 120 (พ.ศ.2444) ว่า เมื่อวันเสาร์ที่ 20 กรกฎาคม เสด็จฯ ไปบ้านพระยาวิเชียรคีรี (ชม) “เป็นบ้านอย่างเจ๊ก ๆ เก่า ๆ มีเครื่องจักรสำหรับกลึงงาและพิมพ์หนังสือ มีที่ถ่ายรูป เขาเชิญเสด็จไปฉายพระรูปหมู่รูปหนึ่ง ลูกพระยาวิเชียรคีรี ที่เป็นจีนเป็นคนฉาย เพราะลูกของแกเป็นฝรั่งคนหนึ่ง แขกคนหนึ่ง และเจ๊กคนหนึ่ง เรียนภาษาและแต่งกายอย่างชาตินั้น ๆ” ครั้นลุปี พ.ศ.2447 พระยาวิเชียรคีรี (ชม) ผู้บิดาถึงแก่อนิจกรรมลง ในขณะเดียวกัน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้เสด็จประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ และเสด็จฯ ถึงเมืองสงขลาภายหลังจากพระยาวิเชียรคีรี (ชม) ถึงแก่อนิจกรรมเพียง 5-6 วันเท่านั้น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บุตรของพระยาวิเชียรคีรี (ชม) เข้าเฝ้าทุกคน ตอนนั้นคุณทิตย์ อายุได้ 24 ปี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสนพระทัยเป็นพิเศษ ได้ตรัสถามว่า “จะไปอยู่กรุงเทพฯ ด้วยกันไหม” คุณทิตย์ก็กราบทูลว่า “แล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ” เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จกลับถึงพระนครได้ 3 วัน ก็ทรงมีพระราชโทรเลขเรียกตัวคุณทิตย์เข้ากรุงเทพฯ ทันที สิ่งแรกที่คุณทิตย์ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็คือ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีพิธี “ตัดเปีย” โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพเป็นผู้ตัดแทนพระองค์ ทั้งนี้ โดยได้ตรัสว่า “สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพตัดจุกหรือเปียให้ผู้ใดแล้ว ผู้นั้นจะต้องได้เป็นพระยาทุกคน” หลังจากนั้น คุณทิตย์ได้เข้าศึกษาและอบรมขนบธรรมเนียมต่างๆ จากโรงเรียนมหาดเล็กหลวง เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว คุณทิตย์ได้เข้าปฏิบัติหน้าที่เป็นมหาดเล็กวิเศษเฝ้าพระทวารห้องพระบรรทม และได้รับราชการสนองพระเดชพระคุณด้วยความจงรักภักดีจนสิ้นรัชกาลที่ 5” จากข้อความนี้ ทำให้พิจารณาได้ว่า รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระเมตตาและพระมหากรุณาธิคุณต่อคุณทิตย์เป็นอย่างมากทีเดียว ซึ่งสอดคล้องกับคำบอกเล่าของพี่ทิพดังกล่าวข้างต้น

ในบั้นปลายของชีวิต พระยาอภิรักษ์ฯ ยังคงมีความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อย่างไม่เสื่อมคลาย โดยจะเห็นได้จากคำบอกเล่าจากความทรงจำในวัยเด็กของคุณป้าแสงจันทร์ ณ สงขลา (คุณป้าแสงจันทร์ เป็นภรรยาของคุณลุงเอนก ณ สงขลา และเป็นบุตรของนายสุบิน-นางล้วนฤดี (ณ สงขลา) สิโรรส เป็นหลานของพระยาวิชุโชติชำนาญ (ปรง ณ สงขลา) พระยาวิชุโชติชำนาญเป็นบุตรของพระยาวิเชียรคีรี (ชม) และมีศักดิ์เป็นพี่ชายของพระยาอภิรักษ์ฯ) ที่ว่า “พระยาอภิรักษ์ฯ ซึ่งแม้จะมีอายุมากขึ้นตามลำดับ ยังคงสวมเสื้อราชปะแตนและนุ่งโจงกระเบนสีชมพูสด ประดับเหรียญตราเต็มยศ ถือพานธูปเทียนแพ เดินเท้าเป็นระยะทางหลายกิโลเมตรอย่างไม่เหน็ดเหนื่อย ไปยังศาลากลางจังหวัดสงขลา เพื่อถวายบังคมพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในวันที่ 23 ตุลาคมของทุกปี” พระยาอภิรักษ์ฯ ได้ถือปฏิบัติเช่นนี้เป็นประจำทุกปีจวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต ซึ่งความจงรักภักดีดังกล่าวนี้ เป็นที่เชิดชูและเป็นแบบอย่างให้แก่ลูกหลาน ณ สงขลาและชาวสงขลาตลอดมา (ที่มา : หนังสืออนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พันเอก พร้อมศักดิ์ ณ สงขลา โดย ณัฐพล ณ สงขลา)

จบตอนที่ 2 โปรดติดตามตอนต่อไป ตอนที่ 3 - “เข้าเฝ้าฯ รัชกาลที่ 6” 

เครดิต: ดร.เวคิน สุวรรณคีรี

Back to Top