เรื่องเล่าจากบ้านคุณมัณฑนา (ณ สงขลา) เชิดวิศวพันธ์

วันนี้มีเรื่องเล่าจากบ้านคุณมัณฑนา (ณ สงขลา) เชิดวิศวพันธ์ อายุ 88 ปี และบ้านคุณจุมพล ณ สงขลา อายุ 84 ปี อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกาและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มาเล่าให้ญาติๆ ฟัง แต่ก่อนที่ท่านทั้งสองจะเล่าให้ผมฟัง ท่านได้ขอออกตัวก่อนว่า ในการเล่าบางเหตุการณ์อาจจะมีความทรงจำที่ลางเลือนไปบ้าง ก็ขอให้ลูกหลานหลวงอุดมภักดี (ทับ) หรือญาติ ณ สงขลาท่านอื่นๆ ได้กรุณาแสดงความคิดเห็นหรือแก้ไขให้ถูกต้องด้วย จะขอบคุณมาก

คุณมัณฑนาและคุณจุมพลเป็นบุตรของ คุณเอื้อ (นามเดิม “เอื้อน”) กับคุณชิต ณ สงขลา เป็นหลานของหลวงอุดมภักดี (ทับ) และเป็นเหลนของพระยาวิเชียรคีรี (ชุ่ม) เจ้าเมืองสงขลาลำดับที่ 7 ในตระกูล ณ สงขลา คุณมัณฑนาและคุณจุมพลได้เล่าให้ฟังว่า คุณปู่เป็นบุตรคนที่ 9 ของพระยาวิเชียรคีรี (ชุ่ม) กับนางเทศ ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็น “หลวงอุดมภักดี” ผู้ช่วยราชการเมืองสงขลา ถือศักดินา 1,000 ไร่ ช่วยราชการพระยาวิเชียรคีรีศรีสมุทวิสุทธิ์ศักดามหาพิไชยสงคราม รามภักดีอภัยพิริยบรากรมพาหุ ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา นอกจากนี้ คุณปู่ยังได้ประกอบธุรกิจส่วนตัวอีกด้วย เช่น ธุรกิจโรงเลื่อย โรงน้ำแข็ง โรงสี รับสัมปทานรังนก ธุรกิจเดินเรือรับส่งผู้โดยสารและสินค้าระหว่างจังหวัดสงขลากับกรุงเทพฯ ค้าขายสินค้าทั่วไป เป็นต้น ในปี พ.ศ. 2455 ได้มีเหตุการณ์อันไม่คาดฝันเกิดขึ้น เมื่อคุณปู่ซึ่งมีอายุประมาณ 45 ปีในขณะนั้น ได้ไปตรวจกิจการโรงเลื่อย และไม่ทราบว่าเพราะเหตุใด จึงทำให้ชายผ้าโจงกระเบนของคุณปู่เข้าไปติดกับใบเลื่อยซึ่งกำลังทำงานอยู่ แล้วดึงร่างคุณปู่เข้าไปสู่ใบเลื่อย จนทำให้ถึงกับเสียชีวิต ในขณะที่คุณพ่ออายุได้ 9 ขวบ

คุณพ่อเป็นบุตรของหลวงอุดมภักดี (ทับ) กับนางเยื้อน เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2446 ที่บ้านบ่อยาง จังหวัดสงขลา ได้เข้ามาเรียนหนังสือที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย โดยคุณพ่อเข้ามาพักอาศัยอยู่กับคุณอา แต่จำชื่อคุณอาไม่ได้แล้ว ทราบแต่เพียงว่า อาๆ ผู้หญิงทั้งหลายทำงานอยู่ในวัง เช่น คุณอาสง่า (ณ สงขลา) นวรัตน์ ณ อยุธยา (คุณแม่ของ ดร.ม.ล. ปริยา - ม.ล.
พัชรี นวรัตน์) คุณอาโสน (ณ สงขลา) ศรีพิพัฒน์ เป็นต้น เมื่อจบชั้นมัธยมศึกษาแล้ว คุณพ่อได้เข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง พร้อมทั้งเข้ารับราชการที่กรมเกษตรและการประมงอีกด้วย เมื่อสำเร็จการศึกษาได้รับปริญญาธรรมศาสตร์บัณฑิต (ธ.บ.) แล้ว คุณพ่อก็ยังคงรับราชการอยู่ จนถึงปี พ.ศ. 2480 คุณพ่อได้ลาออกจากราชการเพื่อไปลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรจังหวัดสงขลา และได้รับเลือกตั้งให้เป็นผู้แทนราษฎรจังหวัดสงขลาหนึ่งสมัย แต่สมัยต่อมาไม่ได้รับเลือกตั้ง คุณพ่อจึงกลับมากรุงเทพฯ และสมัครเข้ารับราชการในกระทรวงสหกรณ์ (ปัจจุบันคือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์) ซึ่งคุณพ่อก็ประสบความสำเร็จในหน้าที่ราชการมาตามลำดับ จนได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง “สหกรณ์ภาค 9” ไปประจำอยู่ ณ จังหวัดสงขลา

ในขณะที่รับราชการอยู่ที่จังหวัดสงขลา คุณพ่อได้เข้าไปทำบุญที่วัดแจ้งเป็นประจำ เพราะถือว่าเป็นวัดประจำตระกูล ณ สงขลา อีกวัดหนึ่งในจังหวัดสงขลา เนื่องจากพระอุโบสถของวัดนี้สร้างโดยท่านผู้หญิงสุทธิ์ ภรรยาเจ้าพระยาวิเชียรคีรี (เม่น) เจ้าเมืองสงขลาลำดับที่ 6 ในตระกูล ณสงขลา ต่อมาประมาณปี พ.ศ. 2496 ศาลาที่ประดิษฐานบัวบรรจุอัฐิของตระกูล ณ สงขลา ได้ทรุดโทรมมากจนใกล้จะพังทลายลงมา คุณพ่อจึงได้นำความมาปรึกษาเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ (จิตร ณ สงขลา) และพระยามานวราชเสวี (ปลอด ณ สงขลา) ที่กรุงเทพฯ ในฐานะที่เป็นผู้ใหญ่ของตระกูล ว่าจะเข้าไปบูรณะศาลาดังกล่าวและบัวให้มีสภาพดีดังเดิม และจะขอนำอัฐิของคุณปู่จากสุสานสวนตูล รวมทั้งอัฐิลูกหลานเจ้าเมืองสงขลาทั้งจากสวนตูล และจากวัดต่างๆ ในจังหวัดสงขลามาบรรจุไว้ในบัวที่วัดแจ้งด้วย เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศและพระยามานวราชเสวีเห็นชอบตามข้อปรึกษา และอนุญาตให้คุณพ่อดำเนินการได้ คุณพ่อจึงชักชวนและรวบรวมเงินจากลูกหลานหลวงอุดมภักดี (ทับ) เช่น คุณอาสง่า คุณอาโสน เป็นต้น เพื่อร่วมกันบูรณะศาลาและบัวดังกล่าว จนทำให้ศาลาและบัวกลับมามีสภาพดี สามารถใช้ประกอบกิจกรรมทางศาสนา และลูกหลาน ณ สงขลาสามารถเข้าไปกราบไหว้ได้สะดวกยิ่งขึ้น

หลังจากนั้น คุณพ่อซึ่งเข้าไปกราบไหว้สุสานคุณปู่ในบริเวณสวนตูลอยู่บ่อยๆ พบว่ามีสุสานและหลุมฝังศพของญาติ ณ สงขลาอีกหลายท่าน
ในบริเวณสวนตูล และหลายแห่งอยู่ในสภาพทรุดโทรมมาก ยกเว้นสุสานของพระยาสุนทรานุรักษ์ (เนตร) ที่ยังคงมีสภาพดี คุณพ่อซึ่งประสงค์จะนำอัฐิของคุณปู่มาเก็บไว้ที่บัวในวัดแจ้ง จึงได้แจ้งให้ญาติๆ ณ สงขลาที่มีสุสานอยู่ในสวนตูลหรือที่เก็บอัฐิไว้ตามวัดต่างๆ ในจังหวัดสงขลาทราบว่า ท่านใดที่มีความประสงค์จะนำอัฐิมาบรรจุไว้ในบัวที่วัดแจ้ง ก็ให้นำมาบรรจุได้ เมื่อรวบรวมอัฐิได้มากพอสมควร คุณพ่อจึงได้จัดพิธีบรรจุอัฐิคุณปู่และลูกหลานเจ้าเมืองสงขลาไว้ในบัวที่วัดแจ้งขึ้นในปี พ.ศ. 2499 โดยจัดเป็นงานใหญ่โตมีผู้ว่าราชการจังหวัด ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ พ่อค้าประชาชนมาร่วมงานเป็นจำนวนมาก คุณพ่อได้ทำการเปิดฐานบัวด้วยการถอดสลักทีละชิ้น แล้วนำอัฐิของคุณปู่และลูกหลานเจ้าเมืองสงขลา รวมทั้งญาติๆ ณ สงขลาเข้าไปเก็บเอาไว้อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย แล้วทำการปิดฐานบัวด้วยการลงสลักอย่างแน่นหนา เมื่อเสร็จงาน คุณพ่อได้เข้าไปรายงานต่อเจ้าพระยาศรี
ธรรมาธิเบศและพระยามานวราชเสวี ว่าได้นำอัฐิของคุณปู่และลูกหลานเจ้าเมืองสงขลาท่านอื่นๆ ที่อยู่ในสวนตูล และจากวัดต่างๆ มาบรรจุไว้ในบัวที่วัดแจ้ง โดยแยกตามบัวที่บรรจุอัฐิผู้หญิง และบัวที่บรรจุอัฐิผู้ชายเรียบร้อยแล้ว

ในปี พ.ศ. 2500 คุณพ่อได้ย้ายกลับเข้ามารับหน้าที่ราชการในกรุงเทพฯ และในปีถัดไป พ.ศ. 2501 คุณพ่อถึงแก่กรรมด้วยโรคมะเร็ง สิริอายุ 54 ปี

เครดิต: คุณมัณฑนา (ณ สงขลา) วิศวพันธ์, ดร.เวคิน สุวรรณคีรี

Back to Top