ชมรมสายสกุล ณ สงขลา
39·ซอยสวรรค์วิถี·ถนนสุทธิสารวินิจฉัย·แขวงสามเสนนอก
เขตห้วยขวาง·กรุงเทพฯ 10320
โทร 08-1483-0438

1 พฤศจิกายน 2559

เรียน ญาติ ณ สงขลาทุกสายสกุลที่รักและเคารพทุกท่าน

หนังสือเวียนฉบับที่ 4 ประจำปี  2559  มีข่าวคราวที่จะเรียนให้ญาติ ๆ ทราบ  ดังนี้

บังคมบรมราชเจ้า          จอมไทย 

เสด็จสู่สวรรคาลัย                     สุดเศร้า 

บุญญาพระเกรียงไกร                เกริกโลก 

พลันดับมืดทุกแดนด้าว              ฤดีสลาย 

อาราธน์ฤทธิ์ทั่วฟ้า         ปฐพิน 

ทวยเทพอาทิอินทร์                   อาตม์อ้าง 

บุญก่อด้วยบดินทร์                   มากล้น 

โปรดดลกษัตริย์ท้าง                  สู่สรวง - สวรรค์เทอญ 

ปวงข้าพระพุทธเจ้า  ขอน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้ 

ข้าพระพุทธเจ้า  สมาชิกในสกุล ณ สงขลาทุกสายสกุล 

(ดร. เวคิน สุวรรณคีรี – ร้อยกรอง)

ผมนับว่าเป็นนักเรียนไทยที่โชคดีที่สุดคนหนึ่ง ที่ได้รับพระราชทาน “ทุนภูมิพล” จากพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในการศึกษาเล่าเรียน  เนื่องจากพระองค์ทรงตระหนักดีว่า  การศึกษาของเยาวชนนั้นเป็นพื้นฐานอันสำคัญของประเทศชาติ  ดังจะเห็นได้จากพระราชดำรัสที่พระราชทานแก่คณะครูและนักเรียนโรงเรียนจิตรลดา  เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 27 มีนาคม  2523  ความว่า “....ความรู้ที่สะสมเอาไว้ในตัวเป็นสิ่งสำคัญ เป็นเสมือนประทีปสำหรับนำทางเราไปในการปฏิบัติตนในชีวิต จะเป็นการศึกษาต่อก็ตามหรือจะเป็นการไปประกอบอาชีพการงานก็ตาม ความรู้นั้นจะเป็นเครื่องนำทางไปสู่ความเจริญ  ความรู้ทางวิชาการก็จะสามารถใช้ประกอบอาชีพการงานที่มีประสิทธิภาพ เท่ากับเป็นสิ่งที่จะเลี้ยงตัวเลี้ยงกายเรา  ความรู้ในทางประพฤติที่ดี จิตใจที่เข็มแข็งที่ซื่อสัตย์สุจริตนั้น จะนำเราไปได้ทุกแห่ง เพราะเหตุว่าผู้ที่มีความซื่อสัตย์สุจริต  ผู้มีความขยันหมั่นเพียร  ผู้มีความตั้งใจที่แน่วแน่นั้น  ไม่มีทางที่จะล่มจม เพราะว่าเมื่อเราจะต้องได้รับการช่วยเหลือ  ผู้ที่เห็นบุคคลที่มีความประพฤติดี  ก็จะเข้าช่วยอุปการะต่อไป  แม้ตัวเองก็จะอุปการะตัวเองได้เพราะเห็นแจ้งในสิ่งที่ควรทำ  ไม่ถลำไปในทางที่ไม่ถูก  อันนี้ก็เป็นความหมายของการศึกษา.....” และพระองค์ทรงทราบว่า  เด็กและเยาวชนของไทยมิได้ขาดสติปัญญา หากแต่ด้อยโอกาสและขาดทุนทรัพย์  จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ตั้งกองทุนการศึกษาหลายกองทุน  เช่น  ทุนมูลนิธิอานันทมหิดล  ทุนเล่าเรียนหลวง  ทุนมูลนิธิภูมิพล  ทุนมูลนิธิราชประชาสมาสัยในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นต้น  เพื่อสนับสนุนการศึกษาของเด็กไทย  เพราะการศึกษาเป็นรากฐานของการพัฒนาคนให้มีประสิทธิภาพ  อันเป็นพระราชปณิธานอย่างแรงกล้าของพระองค์

 

พระราชกรณียกิจในด้านการพัฒนาคนนี้  ไม่เพียงแต่คนไทยเท่านั้นที่ซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ แต่นานาชาติก็ยกย่องพระองค์เช่นเดียวกัน  โดยองค์การสหประชาชาติได้ทูลเกล้าถวายรางวัลความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์แด่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2549 โดย นายโคฟี  อันนัน ในฐานะเลขาธิการองค์การสหประชาชาติในขณะนั้น ได้กล่าวในโอกาสทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลตอนหนึ่ง ความว่า  “หากการพัฒนาคนหมายถึง การให้ความสำคัญประชาชนเป็นลำดับแรก  ไม่มีสิ่งอื่นใดแล้วที่ยิ่งใหญ่ไปกว่าการพัฒนาคน ภายใต้แนวทางการพัฒนาคนของพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ได้ทรงอุทิศพระวรกาย ทรงงานโดยไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อย ไม่เลือกเชื้อชาติ วรรณะ และศาสนา ทรงเป็นพระมหากษัตริย์นักพัฒนา  ด้วยพระปรีชาสามารถในการเป็นนักคิดของพระองค์ ทำให้นานาชาติตื่นตัวภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง การเดินสายกลาง  รางวัลความสำเร็จสูงสุดครั้งนี้ เป็นการจุดประกายแนวคิดการพัฒนาแบบใหม่สู่นานาประเทศ” แสดงให้เห็นว่า การพัฒนาคนมีความสำคํญต่อการพัฒนาประเทศเป็นอย่างมาก  

 

การได้รับพระราชทานทุนภูมิพล  เป็นความภาคภูมิใจและเป็นเกียรติยศสูงสุดในชีวิตของผม ผมจึงตั้งใจว่า  จะน้อมนำ “คำพ่อสอน” และ “หลักทรงงาน”  ของพระองค์มาใช้ในการดำเนินชีวิตทั้งส่วนตัวและการงาน  ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและด้วยความวิริยะอุตสาหะ อย่างเต็มกำลังความสามารถและสติปัญญา  เพื่อเสริมสร้างประเทศชาติอันเป็นที่รักยิ่งของพระองค์ให้วัฒนาสถาพรยิ่ง ๆ  ขึ้นไป  และจะสืบสานพระราชปณิธานของพระองค์ในเรื่องต่างๆ ต่อไป

พระผู้เสด็จสู่สวรรคาลัย 

น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอันหาที่สุดมิได้ 

ข้าพระพุทธเจ้า ดร.เวคิน สุวรรณคีรี 

1.  เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2559  ชมรมสายสกุล ณ สงขลาได้จัดทำบุญ  ณ วัดสุทธิวราราม กรุงเทพมหานคร  เนื่องในโอกาสที่วันพระราชทานนามสกุล ณ สงขลาเวียนมาบรรจบครบรอบอีกครั้งหนึ่งใน วันที่ 29 มิถุนายน 2559  และเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษและญาติ ๆ ตระกูล ณ สงขลาที่ล่วงลับไปแล้ว โดยมี คุณอาสายจิตร กฤษณามระ ประธานตระกูล ณ สงขลา เป็นประธานในพิธี  มีญาติ ๆ ณ สงขลาทุกสายสกุลมาร่วมงานกันอย่างคับคั่ง

ประเทศไทยเริ่มมีการใช้นามสกุลในปี พ.ศ.2456  ก่อนนี้เราไม่มีนามสกุล เรียกกันแต่ชื่อ บางคนชื่อซ้ำซ้อนกัน จึงไม่สามารถระบุตัวบุคคลได้ชัดเจน  ทำให้เกิดความสับสนในการปกครอง  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงมีพระราชดำริในเรื่องนามสกุลไว้ในบันทึกจดหมายเหตุรายวันส่วนพระองค์  ลงวันที่ 13 มกราคม พ.ศ.2454 ความว่า

“ยังมีอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งได้พูดกันลงความเห็นกัน คือว่าด้วยชื่อแส้ฤาตระกูล  ซึ่งในเมืองอื่นๆ เขาก็มีกันแบบทั่วไป แต่ในเมืองเรายังหามีไม่ เห็นว่าดูถึงเวลาอยู่แล้วที่จะต้องจัดให้มีขึ้น  การมีชื่อตระกูลเป็นความสะดวกมาก  อย่างต่ำ ๆ ที่ใคร ๆ ก็ย่อมจะมองแลเห็นได้คือชื่อทะเบียฬสำมโนครัวจะได้ไม่ปะปนกัน 

แต่อันที่จริงจะมีผลสำคัญยิ่งกว่านั้นคือ จะทำให้คนเรารู้จักรำฤกถึงบรรพบุรุษของตน ผู้ได้อุตสาห์ก่อร่างสร้างตัวมา และได้ตั้งตระกูลไว้ให้มีชื่อในแผ่นดิน เราผู้เป็นเผ่าพันธ์ของท่านได้รับมรฎกมาแล้ว จำจะต้องประพฤติตนให้สมกับที่ท่านได้ทำดีมาไว้ และการที่จะตั้งใจเช่นนี้  ถ้ามีชื่อที่จะต้องรักษามิให้เสื่อมทรามไปแล้ว ย่อมจะทำให้เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวหน่วงใจคนมิให้ตามใจตนไปฝ่ายเดียว จะถือว่า ตัวใครก็ตัวใครไม่ได้อีกต่อไป จะต้องรักษาทั้งชื่อของตัวเองและชื่อของตระกูลด้วยอีกส่วนหนึ่ง”

ดังนั้น ในวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ.2455 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตรา  “พระราชบัญญัติขนานนามสกุล” ขึ้น โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ.2456  เป็นต้นไป  หลังจากตราพระราชบัญญัติแล้ว  หลายครอบครัวจึงตั้งนามสกุลตามราชทินนามหรือชื่อของบรรพบุรุษหรือตามถิ่นที่อยู่ของตน  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานนามสกุล ณ สงขลาแก่พระยาอภิรักษ์ราชอุทยาน (ทิตย์) เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ.2456  นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อมแก่สมาชิกในสกุล ณ สงขลาอย่างหาที่สุดมิได้ และสมควรอย่างยิ่งที่สมาชิกในสกุล ณ สงขลา  จะน้อมนำพระราชดำริดังกล่าวข้างต้นมายึดถือปฏิบัติในการดำเนินชีวิต

2. ในวันทำบุญที่วัดสุทธิวรารามเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2559 พลเอกปานเทพ ภูวนารถนุรักษ์ ได้นำเรื่อง “วัดเขาขุนพนม” ซึ่งตั้งอยู่ที่ อ.พรหมคีรี จ.นครศรีธรรมราช มาเล่าให้ฟังโดย คุณอาปานเทพเกริ่นนำว่า สาเหตุที่นำเรื่องนี้มาเล่า เนื่องจากเห็นว่าตระกูล ณ สงขลาเป็นตระกูลที่มีความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ ต่อบรรพบุรุษ มีความรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์อย่างแน่นแฟ้น รักความยุติธรรม ความถูกต้อง คราวใดที่ตระกูล ณ สงขลาเห็นความไม่ถูกต้อง ก็จะลุกขึ้นต่อสู้  ในเรื่องความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณที่เห็นชัดเจน ก็คือการที่ตระกูล ณ สงขลามีความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ได้พระราชทานนามสกุล       ณ สงขลา แต่ยังมีอีกพระมหากรุณาธิคุณที่ยิ่งใหญ่ที่สุดสำหรับตระกูล ณ สงขลา ก็คือ การที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ พระยาสุวรรณคีรีสมบัติ (เหยี่ยง แซ่เฮา) ต้นสกุล ณ สงขลา  เป็นเจ้าเมืองสงขลา  คุณอาเห็นว่า ตระกูล ณ สงขลาสมควรที่จะสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่นี้ และกล่าวต่อไปว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้เสด็จพระราชดำเนินโดยทางเรือ โดยมีเจ้าพระยานคร เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชมารับไปยังวัดเขาขุนพนม ในระหว่างทางเจอพายุ  จึงหลบเข้าไปพักในถ้ำแห่งหนึ่งในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เวลาต่อมาถ้ำนี้ถูกเรียกว่า “ถ้ำพระยานคร” และ ณ ที่วัดเขาขุนพนมแห่งนี้ ชาวบ้านรอบๆเขาขุนพนมเชื่อว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้เคยมาประทับในขณะครองเพศบรรพชิตและปฎิบัติธรรมเจริญวิปัสสนากรรมฐานอยู่ที่นี่ โดยคุณอาได้อ้างข้อสันนิษฐานของหนังสือ “พระเจ้าตากสินยังไม่ตาย?” ประพันธ์โดย ว.วรรณพงษ์ & ภมรพล    ปริเชฏฐ์ และในวันที่  28 ธันวาคมของทุกปี ซึ่งเป็นวันที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเสด็จเถลิงถวัลย์สิริราชสมบัติ  ทางวัดจะจัดให้มีการเฉลิมฉลองทุกปี  ซึ่งคุณอาได้ไปร่วมงานเป็นประจำ  รวมทั้งได้สร้างพระประธานไปถวายวัดและทำนุบำรุงวัดมาโดยตลอด  ในปีนี้คุณอาก็จะไปร่วมงานอีกเช่นเคย

คุณอาปานเทพจึงเชิญชวนญาติ ณ สงขลา  ให้ร่วมกันรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอันใหญ่หลวงนี้  ด้วยการไปร่วมงานเฉลิมฉลองในเดือน ธ.ค.หรือจะไปกับคุณอาในเดือน ธ.ค.นี้ก็ได้  แต่ถ้าไม่สะดวกที่จะไปในเดือน ธ.ค.  ก็อาจจะจัดไปเยี่ยมชมวัดนี้ในช่วงเวลาที่พวกเราไปทำบุญเช้งเม็งก็ได้  หรือเราอาจจะทำอะไรสักอย่างเหมือนที่เราทำที่วัดสุทธิวราราม  และคุณอาเห็นว่า  ในงานรวมญาติที่กรุงเทพในเดือน ม.ค. ของทุกปี  คณะกรรมการฯ สมควรที่จะอัญเชิญพระบรมสาทิสลักษณ์ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชมาร่วมในพิธีคารวะบรรพบุรุษของตระกูล ณ สงขลาด้วย

ในเรื่องวัดเขาขุนพนมนี้  เมื่อปีที่แล้ว (28 สิงหาคม 2558) ลูกหลาน เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ (จิตร ณ สงขลา) รวมทั้งผมด้วย  นำโดย คุณนพพงศ์ อังสุวัฒนะ ได้ร่วมเป็นคณะกรรมการดำเนินงานทอดผ้าป่าสามัคคี โดยมีท่าน พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธานอุปถัมถ์  และมีท่านพลเอกสุชาติ ชมพูทวีป เป็นประธานคณะกรรมการดำเนินงาน ได้เชิญชวนผู้มีจิตศรัทธาร่วมบริจาคเงินสมทบทุนในการบูรณะและปฏิสังขรณ์ถ้ำที่ประทับเมื่อครั้งทรงผนวชและปฏิบัติธรรมของ  สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช  ให้มีความงดงามและสมพระเกียรติ

3. โครงการอุทยานการเรียนรู้ประวัติศาสาตร์เมืองสิงหนคร จังหวัดสงขลา (โครงการ) เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2559 นายกเทศมนตรี เทศบาลเมืองสิงหนคร จ.สงขลา คุณธนกร สังฆโรและคณะ ได้เข้าพบคุณอาเจริญจิตต์ ณ สงขลา เพื่อเสนอแนวความคิดและขอความคิดเห็นจากคุณอาเกี่ยวกับโครงการนี้  เนื่องจากคุณอาเป็นญาติผู้ใหญ่ที่ตระกูล ณ สงขลาให้ความเคารพ และเคยเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ปลัดกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เพราะโครงการนี้จะมีการก่อสร้างอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และเจ้าเมืองสงขลา บรรพบุรุษตระกูล ณ สงขลา ทั้ง 8 ท่านด้วย  คุณอาเจริญจิตต์จึงขอให้ผมในฐานะที่เคยร่วมปรึกษาหารือเรื่องอนุสาวรีย์พระยาสุวรรณคีรี (เหยี่ยง แซ่เฮา) กับ คุณอามาร่วม 20 ปี รวมทั้งตัวแทน ณ สงขลารุ่นต่อไปที่จะสืบทอดเจตนารมย์ในเรื่องนี้ คือ คุณโรจธัมม์ อนุเสถียร ณ สงขลา  คุณธัญรัชฎ์ ณ สงขลา และคุณทรงธรรม ณ สงขลา เข้าร่วมฟังการเสนอโครงการด้วย

ผลการพูดคุยพอสรุปได้ดังนี้ คุณอาเจริญจิตต์เห็นด้วยกับโครงการและยินดีให้การสนับสนุน  พร้อมทั้งแนะนำให้ระมัดระวังในเรื่องความเหมาะสมของการวางตำแหน่งอนุสาวรีย์ และควรปรึกษาหลายๆฝ่าย เช่นกระทรวงมหาดไทย กรมศิลปากร เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คุณกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย เพื่อขอความคิดเห็นและคำแนะนำ เนื่องจากคุณกฤษฎาเคยเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาและเคยปรึกษาหารือกับคุณอาและผม ในเรื่องการก่อสร้างอนุสาวรีย์พระยาสุวรรณคีรี   (เหยี่ยง) มาก่อนที่จะย้ายไปเป็นอธิบดีกรมการปกครอง และปลัดกระทรวงมหาดไทยในที่สุดรวมทั้งขอให้ผมเป็นตัวแทนตระกูล ณ สงขลาในการดำเนินการโครงการนี้และรายงานความคืบหน้าให้คุณอาทราบด้วย

4. งานรวมญาติ ณ สงขลาทุกสายสกุลประจำปี  2560 ซึ่งตามประเพณีปฏิบัติของตระกูล  เราจะจัดงานรวมญาติในวันอาทิตย์สุดท้ายของเดือนมกราคมของทุกปี  แต่เนื่องจากปีนี้เป็นปีแห่งความวิปโยคโศกเศร้าของประชาชนชาวไทยและประเทศไทย  ทุกคนอยู่ในช่วงไว้ทุกข์ และการไว้ทุกข์นี้จะต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า  รวมทั้งทางราชการได้ขอความร่วมมือในการงดจัดกิจกรรมบันเทิงต่างๆ ในระยะนี้  ดังนั้น  ชมรมสายสกุล ณ สงขลาโดยความเห็นชอบของท่านประธานและรองประธานตระกูล ณ สงขลา  จึงเห็นควรให้งดการจัดงานรวมญาติ ณ สงขลาทุกสายสกุลประจำปี 2560 ที่จะจัดขึ้นในเดือนมกราคม 2560 

5.  ข่าวสังคม ณ สงขลา.....@ 18 กันยายน  เป็นวันคล้ายวันครบรอบวันเกิดคุณอาสายจิตร กฤษณามะ ประธานตระกูล ณ สงขลา  ผมในนามญาติ ณ สงขลาทุกสายสกุล  ขออารธนาคุณพระศรีรัตนตรัยและสิ่งสักดิ์สิทธ์ทั้งหลาย  รวมทั้งบุญบารมีของพรรพบุรุษตระกูล ณ สงขลา  จงดลบันดาลให้คุณอาเพียบพร้อมด้วยจตุรพิธพรชัย  อายุ  วรรณะ  สุขะ  พละ  คิดสิ่งใดขอให้ได้สมปรารถนาจงทุกประการเทอญ.....@ ในงานวันคล้ายวันเกิดของคุณอาสายจิตร  ผมได้รับหนังสือจากคุณอามาหนึ่งเล่ม  ชื่อ “ช่วงหนึ่งของชีวิต” เขียนโดยคุณอาเอง  เป็นการเล่าเรื่องการต่อสู้กับโรคภัยไข้เจ็บของคุณอามาตั้งแต่เล็กจนถึงปัจจุบัน  โดยนำประสบการณ์จากการต่อสู้กับความเจ็บปวดและวิธีแก้ไขด้วยการสร้างกำลังใจให้แก่ตนเองมาเล่าให้ฟัง  เป็นการเขียนพรรณาโวหารที่อ่านเข้าใจง่ายและเพลิดเพลินราวกับไม่ใช่เรื่องการต่อสู้กับความเจ็บปวด  รวมทั้งแฝงอารมณ์ขันไว้เป็นระยะ ๆ  ดังจะขอยกตัวอย่างในตอนที่คุณอาไปติดเชื้อ Cytomegalovirus มาจากต่างประเทศ  เป็นไวรัสชนิดหนึ่งที่คนไทยมักจะไม่ค่อยเป็น ความว่า “.....และในที่สุดดิฉันก็ต้องเข้ารับการผ่าตัดลำไส้นะค่ะ  ตัดทิ้งออกแล้วก็ต่อ  ซึ่งถ้าไม่ตัดออกมันจะลามไปเรื่อยๆ  ระหว่างที่ทำการผ่าตัดนั้นมันใกล้ปีใหม่ค่ะ  วันที่ 31 ธันวาคม  ดิฉันนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาลและมีสายระโยงระยางเต็มไปหมด  และไอ้ที่แขวนขวดน้ำเกลือ ยาฆ่าเชื้อ  สารพัดจะยาละค่ะ  กลางคืนจะมีไฟสีเขียวสีแดงสลับกัน  เสียงมันจะดังและมีไฟวิ่งสลับกันอยู่ตลอดเวลา  สีเขียว สีแดง สีเหลือง  ดิฉันมองดูแล้ว  ให้นึกในใจว่าเราก็มาปีใหม่อยู่ในโรงพยาบาล และอยู่บนตึกระฟ้าด้วย  แถมยังได้เห็นแสงสีคือว่าเครื่องประกอบการรักษาเนี่ยค่ะ  น้ำยาต่างๆ มีแสงออกมาเรื่อเรืองๆ อยู่เรื่อยๆ  ดิฉันทำใจว่าเราก็มาฉลองปีใหม่เหมือนกัน  เป็นเครื่องปลอบใจอย่างหนึ่งนะค่ะ  คือถ้าเราท้อเสียแล้ว จะไม่มีกำลังใจค่ะ  ดิฉันคิดว่าถ้าเราอยากจะอยู่เห็นโลกต่อไป  เราต้องสู้  การต่อสู้นั้นก็ด้วยการทำตัวของเราให้เห็นอะไรเป็นสิ่งที่น่าอยู่น่าดูไปทั้งหมด  ซึ่งจะช่วยได้มากค่ะในเรื่องกำลังใจเช่นนี้......”  และในตอนจบของหนังสือ  คุณอาได้ฝากข้อคิดให้แก่ทุกคนว่า  “ถ้าเราไม่ช่วยตัวเองแล้วไซร้  ใครเล่าจะช่วยให้” ผมคิดว่าเนื้อหาสาระของหนังสือเล่มนี้เป็นอุทาหรณ์สอนใจและเป็นกำลังใจให้แก่ทุกคนที่จะต่อสู้กับโรคภัยไข้เจ็บได้เป็นอย่างดีครับ

สุดท้ายนี้ ผมขอขอบพระคุณญาติๆ ณ สงขลาทุกสายสกุลที่ได้ติดตามข่าวคราวของตระกูลมาโดยตลอด

 

ด้วยความรักและเคารพ 

ดร.เวคิน สุวรรณคีรี 

รองประธานตระกูล ณ สงขลา


Back to Top