พระเพชรคีรีศรีราชสงคราม (เจ้าแก้วเมืองไท ณ ลำปาง)
ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา คนที่ ๑๔
พระเพชรคีรีศรีราชสงคราม (เจ้าแก้วเมืองไท ณ ลำปาง) เกิดเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๔ เป็นราชบุตรองค์โตของ พล.ต.ต. เจ้าราชวงศ์ (เจ้าแก้วปราบเมรุ ณ ลำปาง) กับ แม่เจ้าทิพยอด พระธิดาในพระเจ้าพรหมาภิพงษ์ธาดา เจ้าผู้ครอง นครลำปาง องค์ที่ ๑๐
เจ้าแก้วเมืองไท หรือ เจ้าไท ได้รับการศึกษาภาษาไทยเบื้องต้นที่คุ้มของเจ้าราชวงศ์ จนอายุได้ ๑๓ ปี ได้ลงมาศึกษาต่อที่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย จนจบชั้นมัธยมปีที่ ๖ และเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนราชวิทยาลัย เมื่อสำเร็จการศึกษา แล้ว ได้เข้ารับราชการในสำนักราชเลขาธิการ ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ โดยได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น ?นายวรการบัญชา? หลังจากที่ได้รับราชการสนองพระเดชพระคุณระยะหนึ่ง
?
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ายุคลฑิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ โปรดเกล้าฯ ให้ตามเสด็จลงไปถวายงานที่จังหวัดสงขลาอันเป็นที่ตั้งของมณฑลเทศาภิบาล โดยเริ่มตำแหน่งหน้าที่จาก นายอำเภอสะเดา ปฏิบัติราชการด้วยความอุตสาหะและแข็งขัน มีความเจริญก้าวหน้าในราชการตามลำดับ และมีส่วนสำคัญในการสร้างความเจริญให้แก่จังหวัดสงขลาในยุคที่เป็นมณฑลเทศาภิบาลมาโดยตลอด จนกระทั่งได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา คนที่ ๑๔ โดยตลอดช่วงเวลาดังกล่าว รับราชการอยู่แต่ในจังหวัดสงขลาโดยมิได้ย้ายไปอยู่ในจังหวัดอื่นใดเลย รวมระยะเวลา ๑๘ ปี เมื่อปี
พ.ศ. ๒๔๗๕ เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ ได้เสด็จแปร พระราชฐานโดยทางเรือไปประทับที่พระตำหนักเขาน้อย จังหวัดสงขลา รัฐบาลในขณะนั้น ได้สั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดระเบิดทำลายทางรถไฟ แม้ว่าจะโดยเสด็จทางชลมารค แต่พระเพชรคีรีฯ ผู้ว่าราชการจังหวัดในขณะนั้นหาได้ปฏิบัติตามคำสั่งไม่ จึงถูกปลดออกจากตำแหน่ง และถือเป็นการสิ้นสุดชีวิตราชการนับแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
พระเพชรคีรีฯ ยังคงพำนักอยู่ในจังหวัดสงขลาจนถึงปี พ.ศ. ๒๔๘๕ เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ กองทัพญี่ปุ่นได้ขึ้นบกที่จังหวัดสงขลา และได้เข้ายึดครองบ้านของท่านซึ่งอยู่ตรงที่ทำการไปรษณีย์ ตรงข้ามกับตลาดทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ถนนวิเชียรชมในปัจจุบัน ซึ่งต่อมามีถนนตัดผ่านหน้าบ้านเดิมไปทะลุออกถนนนางงาม จึงตั้งชื่อว่า ?ถนนเพชรคีรี? เป็นอนุสรณ์สืบมาจนถึงทุกวันนี้
พระเพชรคีรีฯ ได้สมรสกับคุณแช่ม ธิดาของพระยาวิเชียรคีรี (ชม) มีบุตร ด้วยกัน ๒ คน ได้แก่ (๑) เจ้าเชิดกาวิละ ณ ลำปาง สมรสกับเจ้าอาบคำ ณ ลำปาง และ (๒) เจ้าเดชา ณ ลำปาง สมรสกับนางจันทร์คำ (พรหมวงศ์) และมีธิดากับนางน้อม ณ สงขลา ธิดาหลวงอุดมภักดี (ทับ) อีก ๑ คน คือ (๑) เจ้านางจันทร ณ ลำปาง
ต่อมาสมรสกับเจ้าแม่จำรัสศรี ธิดาของคุณปริ่ม บุตรเจ้าพระยาวิเชียรคีรี (เม่น) และมีบุตรด้วยกัน ๓ คน ได้แก่ (๑) เจ้าไชยแก้ว ณ ลำปาง สมรสกับนางสุนันทา (๒) เจ้าศรีรัตน์ ณ ลำปาง และ (๓) เจ้าญาณรังสี ณ ลำปาง สมรสกับนางอารี มณีพงษ์
ภายหลังจากที่กองทัพญี่ปุ่นเข้ายึดครองบ้านพักอาศัยของท่าน พระเพชรคีรีฯ ได้อพยบครอบครัว ขึ้นไปที่จังหวัดลำปางอันเป็นบ้านเกิด และได้พำนักอยู่ที่นั่นในฐานะเชษฐบุรุษของเจ้านายฝ่ายเหนือสายสกุล ณ ลำปาง ต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา ได้รับพระราชทานตราทุติยจุลจอมเกล้า และได้รับพระราชทานยศนายทหารพิเศษเป็นนายพันเอก เป็นที่เคารพนับถือของเจ้านายฝ่ายเหนือและผู้คนในจังหวัดตลอดอายุขัย
พระเพชรคีรีศรีราชสงคราม (เจ้าแก้วเมืองไท ณ ลำปาง) ถึงแก่อนิจกรรมด้วยโรคชราที่กรุงเทพฯ สิริอายุได้ ๘๐ ปี และได้รับพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ ๗ เสด็จฯ ไปในการพระราชทานเพลิงศพที่วัดเทพศิรินทราวาส เมื่อวันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๓ นับเป็นเกียรติยศอันสูงส่งแก่ลูกหลานในสายสกุล ณ ลำปาง และ ณ สงขลา ตราบจนทุกวันนี้
ข้อมูลและภาพถ่าย จาก เจ้าศรีรัตน์ ณ ลำปาง