พระยาอภิรักษ์ราชอุทยาน (ฑิตย์)


family_honour006ผู้ได้รับพระราชทานนามสกุล ณ สงขลา

 

พระยาอภิรักษ์ราชอุทยาน (ฑิตย์ ณ สงขลา) เกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๔ พฤษภาคม ๒๔๒๒ ปีเถาะ เป็นบุตรของพระยาวิเชียรคีรี (ชม) กับ นางจำเริญ เป็นบุตรชายลำดับที่ ๒ ในจำนวน ๓ คน ซึ่งต่างมารดากัน

เมื่ออายุได้ ๗ ปี คุณหญิงพับ ผู้เป็นย่าได้นำไปฝากเรียนหนังสือไทยกับพระธรรมโมลี (กิมเส้ง) ที่วัดมัชฌิมาวาส ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๓๕ เมื่ออายุได้ ๑๓ ปี พระยาวิเชียรคีรี (ชม) ผู้เป็นบิดาได้ส่งบุตรชายทั้ง ๓ คน ไปเรียนหนังสือต่อที่สิงคโปร์ โดยคนโตชื่อปรง ให้เรียนแต่ภาษาอังกฤษอย่างเดียว คนที่ ๒ ชื่อ ฑิตย์ ให้เรียนแต่ภาษาจีนอย่างเดียว และคนที่ ๓ ชื่อหนิ ให้เรียนแต่ภาษามลายูอย่างเดียว เมื่อเรียนจบได้กลับมาทำหน้าที่ เลขาส่วนตัวของพระยาวิเชียรคีรี (ชม) และฝึกหัดราชการเพื่อเตรียมรับมรดกราชการต่อไป

?

ต่อมาในปี ๒๔๔๗ เมื่อพระยาวิเชียรคีรี (ชม) ถึงแก่อนิจกรรมลง ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้เข้าไปรับราชการถวายงานที่กรุงเทพฯ ปฏิบัติหน้าที่มหาดเล็กวิเศษเฝ้าพระทวารห้องพระบรรทมจนสิ้นรัชกาล

ครั้นเปลี่ยนรัชกาลในปี พ.ศ. ๒๔๕๓ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เลื่อนขึ้นเป็นพระพฤกษาภิรมย์ เจ้ากรมสวนหลวง ดูแลสวนทุกแห่งในพระราชวังทั้งในและนอกพระนคร ต่อมาได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็นพระยาพฤกษาภิรมย์ (พ.ศ. ๒๔๕๖) และพระยาอภิรักษ์ ราชอุทยาน (พ.ศ. ๒๔๖๑) ดูแลความเรียบร้อยในเขตพระราชฐาน และร่วมในงานก่อสร้างสถานที่สำคัญต่างๆ

นายสุเทพ ณ สงขลา (อายุ ๙๖ ปี) บุตรชายของพระยาอภิรักษ์ฯ เล่าจากความทรงจำว่า พระยา อภิรักษ์ฯ เป็นผู้หนึ่งในทีมงานควบคุมการก่อสร้างสถานีรถไฟสวนจิตรลดาหลังปัจจุบันที่สร้างขึ้นใหม่เมื่อ ปี ๒๔๖๕ ทดแทนอาคารไม้หลังเดิมในสมัยรัชกาลที่ ๕ การออกแบบภูมิทัศน์บริเวณลานพระราชวังดุสิต (ลานพระบรมรูปทรงม้า) และการปลูกต้นไม้ในถนนราชดำเนินจนถึงโรงหนังเฉลิมไทย โดยพระยาอภิรักษ์ฯ ?ได้สั่งให้คนงานเพาะเม็ดมะขามไว้ในกระป๋องนมตราแหม่มทูนหัวเป็นจำนวนมาก? ก่อนที่จะนำไปปลูกเป็นแนวยาวตลอดทั้งถนน จนเป็นสัญลักษณ์ส่วนหนึ่งของถนนราชดำเนินในปัจจุบัน

ในปี ๒๔๕๖ ในขณะเป็นพระพฤกษาภิรมย์ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ เป็นผู้รับพระราชทานนามสกุล ณ สงขลา ตามประกาศครั้งที่ ๒ เมื่อวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๔๕๖ เป็นลำดับที่ ๑๐๘ ของสยาม นับเป็นสิริมงคลแก่สมาชิกในตระกูล ณ สงขลาผู้สืบสายสกุลมาจากบรรพบุรุษเจ้าเมืองสงขลาทุกสายสกุล

ในปี พ.ศ. ๒๔๖๕ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นองคมนตรีในรัชกาลที่ ๖ และ พ.ศ. ๒๔๖๙ โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นองคมนตรีในรัชกาลที่ ๗ จนกระทั่งเกิดวิกฤตการณ์เศรษฐกิจ จึงได้กราบบังคมทูลขอลาออกจากราชการและกลับไปอยู่ที่จังหวัดสงขลาจนถึงแก่อนิจกรรม เมื่อวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๑๔ สิริอายุรวม ๙๑ ปี ๑๐ เดือน

ในด้านครอบครัว ได้สมรสกับคุณหญิงลิ้ม ธิดาพระอนันตสมบัติ (เอม) และมีบุตร-ธิดาด้วยกัน ๙ คน ได้แก่ (๑) นางนิ่ม สมรสกับร้อยโทขุนเจนจัดขบวนรบ (เจิม อัมระปาล) (๒) พันเอกถัด ณ สงขลา สมรสกับ นางจันทรา โรจนะหัสดิน (๓) นางช้อย สมรสกับขุนคีรีรัฐนิคม (๔) นายชิต ณ สงขลา สมรสกับนางประภา (๕) นางเสงี่ยม สมรสกับนายประสพ ศรีเพ็ญ (๖) นายสาทิศ ณ สงขลา สมรสกับนางสมศรี เดชณรงค์ (๗) นางสาวจิตรณี (๘) นายสุเทพ ณ สงขลา สมรสกับนางยุพเยาว์ (๙) นายเล็ก ณ สงขลา สมรสกับนางสงัด

ภายหลังเมื่อกลับไปอยู่ที่สงขลา มีภรรยาอีก ๓ ท่าน ได้แก่ (๑) นางเลื่อน มีบุตรด้วยกัน คือ รศ.ดร. ชำนาญ ณ สงขลา สมรสกับ รศ. ดร.วัฒนา พินัยนิติศาสตร์ (๒) นางฉู้ ไม่มีบุตรธิดา และ (๓) นางเปี่ยม มีบุตร-ธิดา ๔ คน ได้แก่ ร้อยตรีระวิ ณ สงขลา นายทินกร ณ สงขลา นายธนู ณ สงขลา และนางเต็มเปี่ยม

ข้อมูล จากอนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพพระยาอภิรักษ์ราชอุทยาน (ฑิตย์ ณ สงขลา) พ.ศ. ๒๕๑๖ และความทรงจำของคุณสุเทพ ณ สงขลา

ภาพถ่าย คุณณัฐพล ณ สงขลา (จัมโบ้เอ)

Back to Top