เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ (จิตร)


family_honour003เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ (จิตร) เกิดเมื่อวันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๔๒๘ (ปีระกา) ที่บ้านพระยาสุนทรานุรักษ์ (เนตร์) ถนนวิเชียรชม ตำบลบ่อยาง จังหวัดสงขลา เป็นบุตรพระอนันตสมบัติ (เอม) ผู้ช่วยราชการเมืองสงขลา กับท่านเชื้อ ธิดาหลวงอุปการโกศากร (เวท วัชราภัย)* และท่านปั้น

เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ (จิตร) มีพี่น้องร่วมบิดามารดา เป็นหญิง ๑ คน และชาย ๔ คน แต่ ๓ คนถึงแก่กรรมเมื่อยังเยาว์ จึงเหลือเพียงน้องชายอีก ๑ คน คือ พระยามานวราชเสวี (ปลอด)

เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๗ ในขณะที่เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ และพระยามานวราชเสวี มีอายุได้เพียง ๙ ปี และ ๔ ปี ได้ละเคหะสถานจากสงขลา ติดตามท่านเชื้อผู้เป็นมารดามาอยู่ที่กรุงเทพฯ ที่ตำบลสีลม ในบริเวณที่ดินของหลวงอุปการโกศากร(เวท วัชราภัย) ซึ่งที่ดินแห่งนี้ ภายต่อมาในปี ๒๔๗๐ เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ (จิตร) ได้ก่อสร้างบ้านขึ้นใหม่ โดยในวันขึ้นบ้านใหม่ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิตได้ทรงพระกรุณาเสด็จมาเป็นเกียรติและประทานนามว่าบ้าน ?จิตตสุข?

เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศเข้าศึกษาที่โรงเรียนอัสสัมชัญเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๘ เรียนอยู่ ๗ ปี ก็สอบไล่ได้ชั้น ๖ บริบูรณ์ โดยวิชาภาษาไทยและภาษาอังกฤษได้คะแนนเป็นที่ ๑ จากนั้นจึงได้ศึกษาวิชากฎหมาย และเริ่มรับราชการที่กระทรวงยุติธรรมเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๖ ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสอบเป็นเนติบัณฑิตไทยได้ในปี พ.ศ. ๒๔๔๘ เมื่ออายุเพียง ๒๐ ปี หลังจากนั้นประมาณ ๑ ปี จึงได้เดินทาง
ไปศึกษาวิชากฎหมายต่อยังประเทศอังกฤษในฐานะนักเรียนหลวงของกระทรวงยุติธรรม โดยใช้เวลาเพียง ๓ ปีครึ่งจึงได้เนติบัณฑิตอังกฤษ (Barister-at-law) จากสำนัก Gray?s Inn เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๓

เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ (จิตร) เดินทางกลับมายังประเทศไทยในปี ๒๔๕๔ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และเข้ารับราชการในตำแหน่งผู้พิพากษาศาลแพ่ง ได้รับโปรดเกล้าฯ พระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหลวงจินดาภิรมย์ ต่อมาได้มีความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่ราชการอย่างรวดเร็ว และได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นพระจินดาภิรมย์ราชสภาบดี (พ.ศ. ๒๔๕๖) พระยาจินดาภิรมย์ราชสภาบดี (พ.ศ. ๒๔๕๙) และได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ และรับพระราชทานตราปฐมจุลจอมเกล้า (พ.ศ. ๒๔๗๔) ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ (จิตร) ได้ถวายราชการรับใช้เบื้องพระยุคลบาทด้วยความรู้ความสามารถอันโดดเด่น และได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยให้ดำรงตำแหน่งสำคัญ อาทิ ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นองคมนตรี (พ.ศ. ๒๔๖๑) อธิบดีศาลฎีกา (พ.ศ. ๒๔๗๐) เสนาบดีกระทรวงยุติธรรม (พ.ศ. ๒๔๗๑-๒๔๗๕) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (พ.ศ. ๒๔๗๖-๒๔๗๗) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (๒๔๗๖ ? ๒๔๘๗) ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร (พ.ศ. ๒๔๗๘-๒๔๗๙) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่ง ประธานวุฒิสภา (พ.ศ. ๒๔๙๐-๒๔๙๔) ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ (พ.ศ. ๒๔๙๑-๒๔๙๒) ประธานรัฐสภา (พ.ศ. ๒๔๙๒-๒๔๙๔) องคมนตรี (ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๕ ? ๒๕๑๘ รวมเวลา ๒๓ ปี) ในด้านครอบครัว เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศได้สมรสกับท่านผู้หญิงน้อม ท.จ.ว. ธิดาของนายพลโท พระยาพหลโยธินรามินทรภักดี (นพ พหลโยธิน) กับคุณหญิงล้วน (จารุรัตน์) และมีบุตรธิดาด้วยกัน ๑๑ คน คือ (๑) นางถนิต จักรปาณีศรีศีลวิสุทธิ์ สมรสกับ หลวงจักรปาณีศรีศีลวิสุทธิ์ (วิสุทธ์ ไกรฤกษ์) (๒) นายขนบ ถึงแก่กรรมเมื่อวัยเยาว์ (๓) นางจำนง ไกรฤกษ์ สมรสกับ นายพิพรรธน์ ไกรฤกษ์ (๔) นางสมศรี อังสุวัฒนะ สมรสกับ นายเผดิม อังสุวัฒนะ (๕) นางภิรมย์ วณิกกุล สมรสกับ นายโอบบุญ วณิกกุล (๖) พันเอกจินดา ณ สงขลา สมรสกับนางสาวพิมสิริ สารสิน (๗) นางสาวผกา ณ สงขลา (๘) นายเจตนา ณ สงขลา สมรสกับ นางสาวกรรติกา หัพนานนท์ (๙) นายแพทย์ยาใจ ณ สงขลา สมรสกับ นางสาวสุคนธา ลิมปิชาติ (๑๐) นางสายจิตร
กฤษณามระ สมรสกับ นายเติมศักดิ์ กฤษณามระ และ (๑๑) บุตรชาย ถึงแก่กรรมเมื่อคลอด

ภายหลังจากท่านผู้หญิงน้อมฯ ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๕ เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศได้สมรสกับท่านผู้หญิงประภา ท.จ.ว. ธิดาของพระยาพิจารณาปรีชามาตย์ (สุหร่าย วัชราภัย) กับคุณหญิงเจริญ ท่านผู้หญิงประภาฯ ถึงแก่อนิจกรรม เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๖ เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ (จิตร) ถึงแก่อสัญกรรม เมื่อวันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๑๙ สิริอายุรวม ๙๐ ปี ๑๑ เดือน ๘ วัน หลังจากได้รับราชการด้านตุลาการ บริหาร และนิติบัญญัติ มา ๕ แผ่นดิน และเป็นองคมนตรี ๓ รัชกาล รวมอายุราชการ ๗๒ ปี และเป็นเจ้าพระยาคนสุดท้ายแห่งกรุงรัตนโกสินทร์

ข้อมูลและภาพถ่าย จากอนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ (จิตร ณ สงขลา) ๒๑ ธันวาคม ๒๕๑๙

Back to Top