NSK-300

คุณปู่เทียม ณ สงขลา เป็นหนึ่งในบุตรคนท้ายๆของคุณพ่อท่านคือหลวงอุดมภักดี (ทับ ณ สงขลา)  โดยที่คุณทวดท่านได้เสียชีวิตขณะที่คุณปู่ยังมีอายุได้ไม่กี่เดือน จึงเป็นเหตุที่คุณปู่เทียมไม่มีความทรงจำของคุณพ่อท่านเลยแม้แต่น้อย หลังจากที่คุณทวดท่านได้เสียชีวิตแล้ว จากคำบอกเล่าของคุณอาสุนันทา ณ สงขลา บุตรีคนที่สองของคุณปู่เทียม ท่านได้เล่าต่อไปว่า  หลังจากนั้น บรรดาลูกๆของท่านทวดก็ถูกนำเข้าวังหลวง เพื่อชุบเลี้ยงต่อไป ตามประเพณีนิยมสมัยนั้น ครั้นคุณปู่เทียมสำเร็จการศึกษาก็ได้ออกมารับราชการสนองพระเดชพระคุณ โดยในช่วงปี พศ 2485 ท่านได้ไปรับราชการเป็นเลขานุการของผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา อยู่มาวันหนึ่งคนสนิทของคุณปู่เทียมได้ไปเดินตลาด และพบกระดาษชิ้นหนึ่งถูกนำมาห่อหมูอยู่ในตลาด คนสนิทของคุณปู่ได้นำกระดาษชิ้นนั้นมาให้คุณปู่เทียม เนื่องจากพบว่านั่นเป็นเอกสารชิ้นหนึ่งที่ทรงคุณค่าต่อวงศ์ตระกูล ณ สงขลา และที่มีความหมายสำคัญยิ่งสำหรับคุณปู่เทียมคือ เอกสารนั้นๆเป็นเอกสารที่เกี่ยวกับตัวคุณพ่อของคุณปู่เทียมโดยตรง นั่นคือ หนังสือ แต่งตั้ง นายมหาดเล็กทับ (ทับ ณ สงขลา) ให้เป็นหลวงอุดมภักดี ผู้ช่วยราชการเมืองสงขลา

เอกสารดังกล่าว ณ เวลานั้น มีอายุราวๆ 47 ปีแล้วและได้สาปสูญไปหลังจากที่คุณทวดทับได้ถึงแก่อนิจกรรม  เข้าใจว่าหลังจากที่ท่านได้เสียชีวิตลงเอกสารเหล่านี้คงถูกนำมาแทนกระดาษธรรมดาประกอบกับสมัยนั้นคนที่อ่านออกเขียนได้อาจยังมีไม่มากนักจึงไม่ทราบว่ากระดาษแผ่นนั้นมีความสำคัญเพียงใด สำหรับคุณปู่เทียมแล้ว กระดาษชิ้นนั้นทรงคุณค่าอย่างมากซึ่งแสดงให้เห็นถึงเกียรติประวัติของบรรพบุรุษที่มีต่อแผ่นดินและความจงรักภักดีที่สืบทอดกันมาหลายช่วงคนตั้งแต่ท่านเหยี่ยง ณ สงขลา ต้นตระกูล ณ สงขลาของเรา

ปัจจุบันเอกสารแผ่นนี้ได้ถูกเก็บรักษาเป็นอย่างดีเพื่อเป็นเกียรติแก่วงศ์ตระกูลของเราสืบไป

--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

เรียบเรียงโดย คุณเพิ่มสิทธิ์ ณ สงขลา (เบิร์ต) 

We_R_Chinese
เราก็จีน : "บ้านเจ้าเมืองสงขลา พ.ศ. ๒๔๓๗" -- อาคารสถาปัตยกรรมจีน ตั้งอยู่ชายทะเล ด้านหลังติดทะเลสาบ ตรงข้ามตึกชุมสายโทรศัพท์ในปัจจุบัน อาคารดังกล่าวก่อสร้างมาแต่สมัยใด ไม่มีใครทราบแน่ แต่คงเป็นหลังจากที่พระยาวิเชียรคีรี (เถี้ยนเส้ง) ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลาลำดับที่ ๔ (พ.ศ. ๒๓๖๑ - ๒๓๙๐) ย้ายเมืองจากฝั่งแหลมสนมายังที่ตั้งของเมืองสงขลาในปัจจุบัน น่าเสียดายที่อาคารดังกล่าวถูกระเบิดทำลายในระหว่างสงครามเมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๔๘๕

ภาพต้นฉบับถ่ายในขณะที่พระวิสุทธิโยธามาตย์ (เจ้าคุณวรสาปา) ไปตรวจราชการหัวเมืองปักษ์ใต้ จ.ศ. ๑๒๕๖ (พ.ศ. ๒๔๓๗) ล้างอัดจากห้องภาพของพระยาวิเชียรคีรี (ชม) ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลาลำดับที่ ๘ (ลำดับสุดท้ายในตระกูล ณ สงขลา) โดยยังคงใช้กระดาษตรา "หลวงวิเศษภักดี (ชม)" ซึ่งเป็นผู้สนใจและมีความชำนาญเรื่องการถ่ายภาพ

ภาพต้นฉบับเก็บรักษาที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ และนำมาตีพิมพ์ในหนังสือ...เกียรติประวัติตระกูล ณ สงขลา เนื่องในงานรวมญาติครั้งที่ ๒๗ (เมื่อ 30 มกราคม ๒๕๕๔)

----------------------------------------------------------------------------

อุ่นเครื่อง งานรวมญาติฯ ครั้งที่ ๒๘ วันอาทิตย์ที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๕๕ โดย คุณณัฐพล ณ สงขลา (จัมโบ้เอ)

Beam

 

ไม้คานประจำตระกูล : ขนาดยาว ๑๖๔ ซม. ทาสีดำ ปลายหุ้มโลหะ เป็นสมบัติตกทอดจากท่านเหยี่ยง แซ่เฮา ชาวจีนจากบ้านเจียงจิ้วหู มณฑลฮกเกี้ยน ซึ่งเข้ามาตั้งบ้านเรือนในเขตเมืองสงขลา เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๒๙๓ และประกอบอาชีพปลูกผักหาปลาด้วยความขยันขันแข็ง จนต่อมาได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายอากรรังนกในทะเลสาบ และเป็นเจ้าเมืองสงขลา ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๓๑๘ - ๒๓๒๗


ไม้คานประจำตระกูลนี้เป็นหลักฐานและมรดกสำคัญที่บรรพบุรุษและลูกหลานที่สืบสายจากท่านเหยี่ยงนับถือสืบต่อกันมา เนื่องด้วยเป็นสัญลักษณ์แห่งความขยันขันแข็ง ความอดทน และความมุ่งมั่นในการประกอบอาชีพจนมีฐานะมั่งคั่ง และได้รับเกียรติยศในการดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองสงขลาสืบต่อกันมาอีกหลายชั่วอายุคน

ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธสถานแห่งชาติ สงขลา
ภาพจาก หนังสือเกียรติประวัติตระกูล ณ สงขลา ที่ระลึกงานรวมญาติ ครั้งที่ ๒๗ (๓๐ มกราคม ๒๕๕๔)

มีใครเคยมีโอกาสได้เห็นของจริงแล้วบ้างครับ??

----------------------------------------------------------------------------

อุ่นเครื่อง งานรวมญาติฯ ครั้งที่ ๒๘ วันอาทิตย์ที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๕๕ โดย คุณณัฐพล ณ สงขลา (จัมโบ้เอ)

Page 2 of 2

Back to Top