ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๓ : พงศาวดารเมืองสงขลา ตอนที่ ๔

ประวัติพระยาวิเชียรคิรี (เถี้ยนเส้ง)

พระยาวิเชียรคิรี (ชม) เมื่อยังเปนพระยาสุนทรานุรักษ์ เรียบเรียง

พระยาวิเชียรคิรี (เถี้ยนเส้ง) เปนบุตรที่ ๒ ของพระอนันตสมบัติ (บุญเฮี้ยว) เปนน้องร่วมมารดากับพระยาวิเศษภักดีศรีสุรสงครามพระยาสงขลา (เถี้ยนจ๋ง) เดิมเมื่อพระยาวิเศษภักดี พระยาสงขลา (เถี้ยนจ๋ง) เปนผู้ว่าราชการเมืองสงขลา โปรดเกล้า ฯ ให้พระยาวิเชียรคิรี (เถี้ยนเส้ง) เปนหลวงสุนทรนุรักษ์ผู้ช่วยราชการ ภายหลังโปรดเกล้า ฯ ให้เปนพระสุนทรนุรักษ์ แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เปนพระยาวิเชียรคิรีศรีสมุทสงคราม ผู้ว่าราชการเมืองสงขลา พระยาวิเชียรคิรี (เถี้ยนเส้ง) มีบุตรกับท่านผู้หญิงทองสุก คือ ท่านผู้หญิงที่ ๑ แล้วมีบุตรกับท่านผู้หญิงแก้วชาวเมืองพัทลุงซึ่งนับเปนท่านผู้หญิงที่ ๒ บุตรที่ ๑ ชื่อลูกจันทน์ บุตรที่ ๒ ชื่อลูกอิน เปนผู้หญิงทั้ง ๒ คน ลูกจันทน์ได้ถวายเปนเจ้าจอมในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ลูกอินนั้นเปนท่านผู้หญิงที่ ๓ ของเจ้าพระยาวิเชียรคิรี (เม่น) แต่ไม่มีบุตร

พระยาวิเชียรคิรี (เถี้ยนเส้ง) ได้สร้างบ้านเรือนไว้ในกรุงเทพ ฯ ริมแม่น้ำเจ้าพระยาน่าวัดสามปลื้มตำบลหนึ่ง ปลูกเปนเรือนมุงกระเบื้องพื้นกระดาน ฝากระดาน ๘ หลัง แลมีท่านผู้หญิงชื่อปรางอยู่ในกรุงเทพ ฯ คนหนึ่งนับว่าเปนท่านผู้หญิงที่ ๔ แต่ไม่มีบุตร แลพระยาวิเชียรคิรี (เถี้ยนเส้ง) ได้เปนแม่ทัพต่อสู้กับแขกขบถถึง ๒ ครั้ง แลได้ก่อกำแพงเมืองกับฝังหลักเมืองเสร็จบริบูรณ์ กับได้ก่อตึกจีนทำเปนจวนผู้ว่าราชการเมืองไว้ ๕ หลัง ซึ่งเรียกกันว่าในจวนตลอดมาจนเดี๋ยวนี้ พระยาวิเชียรคิรี (เถี้ยนเส้ง) อัธยาไศรยดุร้าย จนราษฎรร้องเรียกกันว่า เจ้าคุณสงขลาเสือ เหตุด้วยท่านเกณฑ์ราษฎรไปล้อมจับเสือที่ตำบลบ้านศีศะเขา เพราะที่นั้นเปนที่เสือป่าอยู่ชุกชุม วิธีที่ล้อมจับเสือนั้นพิศดารหลายอย่าง คือเกณฑ์ให้ราษฎรทำแผงไม้ไผ่กว้าง ๖ ศอก ยาว ๖ ศอก ๔ เหลี่ยมไว้เสมอทุกกำนัน ๆ ละ ๑๐ แผงบ้าง ๑๒ แผงบ้าง ๑๕ แผงบ้าง เมื่อเสือเข้ามากัดสุกรหรือโคของราษฎรที่ตำบลบ้านศีศะเขาแล้ว พระยาวิเชียรคิรี (เถี้ยนเส้ง) มีคำสั่งเรียกราษฎรแลแผงได้ในทันทีให้มาล้อมจับเสือ ถ้าราษฎรมาไม่พร้อมในระหว่าง ๒๔ ชั่วโมง ก็ต้องรับอาญาเฆี่ยนหลังคนละ ๓๐ ทีแลต้องจำคุกด้วย เมื่อราษฎรพาแผงมาพร้อมแล้วก็ชวนกันเอาแผงล้อมเสือเข้าโดยรอบ ด้านนอกแผงนั้นให้ราษฎรกองเพลิงตีเกราะนั่งยามโดยรอบแผง พระยาวิเชียรคิรี (เถี้ยนเส้ง) ถือปืนคาบศิลาชื่อว่าอีเฟืองไปนอนเฝ้าเสืออยู่พร้อมด้วยราษฎร พระยาวิเชียรคิริ (เถี้ยนเส้ง) มีอาญาสิทธิเต็มอำนาจเหมือนกับอาญาสิทธิแม่ทัพใหญ่ ครั้นเวลาเช้าพระยาวิเชียรคิริ (เถี้ยนเส้ง) จัดให้ราษฎรพวกหนึ่งถือหอกแลง้าวพร้าขวานเข้าไปอยู่ในแผง ราษฎรพวกหนึ่งคอยขยับแผงตาม พวกราษฎรที่เข้าไปอยู่ในแผงก็จัดกันเปนสามชั้น ชั้นที่หนึ่งถือหอกง้าวเดินเข้าไปข้างน่า ชั้นที่สองถือพร้าขวานถางป่า เดินตามเข้าไปข้างหลัง ชั้นที่สามขยับแผงตามหลังเข้าไปให้วงแผงที่ล้อมนั้นเลื่อนน้อยเข้าทุกครั้ง เมื่อถางป่าขยับแผงล้อมรอบวงน้อยเข้าไปทุกวัน ๆ เสือซึ่งอยู่ในที่ล้อมก็กระโดดกัดเอาคนซึ่งอยู่ในแผงสามชั้นวันละ ๒ คน ๓ คน ถึงแก่กรรมบ้าง เจ็บป่วยลำบากบ้าง พระยาวิเชียรคิรี (เถี้ยนเส้ง) ก็ยังรีบเร่งให้ราษฎรล้อมเสืออยู่เสมอ ในเวลานั้นปรากฏว่าเสือกัดราษฎรตายในที่ล้อมเสียหลายสิบคน เมื่อล้อมแผงเข้าไปใกล้ชิดกับตัวเสือแล้ว เสือก็ตกใจกระโดดขึ้นอยู่บนต้นมะปริงใหญ่ริมโบถแขกตำบลบ้านศีศะเขาเดี๋ยวนี้ เพื่อจะกระโดดข้ามแผงหนีออกไป พระยาวิเชียรคิรี (เถี้ยนเส้ง) ยิงเสือด้วยปืนคาบศิลาชื่ออีเฟืองถูกที่ขมองศีศะ เสือพลัดตกลงจากต้นมะปริงตายในทันที พระยาวิเชียรคิรี (เถี้ยนเส้ง) ผู้นี้เปนผู้ชำนาญในการยิงปืน เพราะเปนศิษย์ท่านพระยาอภัยสรเพลิง กรุงเทพ ฯ แลพระยาวิเชียรคิรี (เถี้ยนเส้ง) ผู้นี้อัธยาไศรยชอบเล่น ลครแลศักรวา ทั้งเปนผู้ศรัทธาในพระพุทธสาสนา ได้สร้างพระวินัยไว้ ๖๖ คัมภีร์ พระสูตร ๒๒๙ คัมภีร์ พระอภิธรรม ๙๗ คัมภีร์ แลได้สร้างเรือสำเภาไว้สำหรับค้าขาย ๓ ลำ แลได้จัดราชการบ้านเมืองให้เรียบร้อยลงหลายอย่าง แต่พระยาวิเชียรคิรี (เถี้ยนเส้ง) ผู้นี้เปนผู้ถือธรรมเนียมจีนอย่างกวดขัน แลเปนผู้ชำนาญในภาษาจีนเขียนอ่านหนังสือจีนคิดเลขอย่างจีนได้คล่องแคล่ว ทั้งเปนผู้ที่ดุร้ายมีอำนาจโดยเต็มกำลัง จึ่งได้รักษาราชการเมืองสงขลาไว้ได้โดยเรียบร้อย เพราะเวลานั้นแขกเมืองทั้ง ๗ เมืองก็คิดขบถอยู่เสมอ ราษฎรในพื้นเมืองสงขลาก็เปนพวกบาแบเรียนคิดแต่จะปล้นสดมฉกชิงวิ่งราวอยู่มิได้ขาด แลธรรมเนียมราชการก็ฟั่นเฝือเหลือจะประมาณ เมืองสงขลาเวลานั้นก็แรกจะตั้งขึ้น ราษฎรพลเมืองก็มีตัวอยู่แต่น้อย พวกแขก ๗ เมือง มีกำลังมาก ถึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พระยาวิเศษภักดี พระยาสงขลา (เถี้ยนจ๋ง) แบ่งเมืองตานีออกเปน ๗ เมืองเสียแล้วก็จริง เมืองสงขลาอำนาจยังไม่พอที่จะปกครอง เพราะเหตุนี้พระยาวิเชียรคิรี (เถี้ยนเส้ง) จึ่งได้กระทำอำนาจโดยแขงแรง ถึงแก่บังคับให้ราษฎรจับเสือป่าได้คล้าย ๆ กับจับวิลาหรือกระจง ราษฎรในเมืองสงขลาเวลานั้นกลัวอำนาจพระยาวิเชียรคิรี (เถี้ยนเส้ง) ยิ่งกว่ากลัวอำนาจเสือป่า ความพิศดารในการเรื่องนี้ยังมีวิถารมาก ข้าพเจ้าผู้เรียงหนังสือฉบับนี้ไม่สามารถที่จะกล่าวให้เกินไป แลพระยาวิเชียรคิรี (เถี้ยนเส้ง) ผู้นี้ถือลัทธิธรรมเนียมจีนโดยกวดขัน ในวงษ์ญาติซึ่งเนื่องว่าเปนพวกแซ่เง่าด้วยกันแล้วห้ามไม่ให้ร่วมประเวณีต่อกัน ด้วยธรรมเนียมจีนถือกันอย่างนี้

พระยาวิเชียรคิรี (เถี้ยนเส้ง) เปนผู้โอบอ้อมยกย่องญาติพี่น้องในตระกูลโดยแขงแรง คือเจือจานให้ปันเลี้ยงดูในหมู่ญาติทั่วตลอดกัน ไม่ได้เลือกที่รักมักที่ชัง แลรวบรวมหมู่ญาติในตระกูลให้ตั้งอยู่ในความสามัคคีต่อกันโดยเรียบร้อย แลเปนผู้ชำนาญหาผลประโยชน์ในการค้าขาย

ครั้น ณ วันเดือนหก ปีจอโทศก ศักราช ๑๒๑๒ พระสุนทรนุรักษ์ (บุญสัง) มอบราชการเมืองให้หลวงวิเศษภักดี (นาก) หลวงอนุรักษ์ภูเบศร์ ( แสง ) กับกรมการอยู่รักษาราชการเมืองสงขลา พระสุนทรนุรักษ์ (บุญสัง) ก็เข้าไปเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อจะได้รับสัญญาบัตรตำแหน่งผู้ว่าราชการเมือง พระสุนทรนุรักษ์ (บุญสัง) เข้าไปติดค้างอยู่ในกรุงเทพ ฯ ปีเศษ ด้วยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต ในปีจอโทศก นั้นหลวงวิเศษภักดี (นาก) ผู้ช่วยราชการซึ่งอยู่รักษาราชการเมืองสงขลาป่วยถึงแก่กรรม ยังอยู่แต่หลวงอนุรักษ์ภูเบศร์ (แสง) กับกรมการผู้ใหญ่ผู้น้อยอยู่รักษาราชการเมือง ครั้น ณ วันพุฒ เดือนหก แรมสิบสามค่ำ ปีกุญตรีศก ศักราช ๑๒๑๓ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้า ฯ พระราชทานสัญญาบัตรให้พระสุนทรนุรักษ์ (บุญสัง) เปนพระยาวิเชียรคิรี ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา แลโปรดเกล้า ฯ พระราชทานสัญญาบัตรให้นายจ่าเรศ (เม่น) บุตรพระยาวิเศษภักดี ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา (เถี้ยนจ๋ง) เปนหลวงสุนทรนุรักษ์ผู้ช่วยราชการ พระยาวิเชียรคิรี(บุญสัง) หลวงสุนทรนุรักษ์ (เม่น) กราบถวายบังคมลากลับออกมารับราชการอยู่ณเมืองสงขลา ภายหลังหลวงอนุรักษ์ภูเบศร์ (แสง) เข้าไปเยี่ยมญาติในกรุงเทพ ฯ ก็ป่วยถึงแก่กรรมเสียในกรุงเทพ ฯ หลวงอนุรักษ์ภูเบศร์ (แสง) คนนี้เปนบุตรพระยาวิเศษภักดี (เถี้ยนจ๋ง) มารดาเปนคนในกรุงเทพ ฯ เมื่อพระยาวิเศษภักดี (เถี้ยนจ๋ง) เข้าไปทำราชการเปนที่หลวงนายฤทธิ์อยู่ในกรุงเทพ ฯ ได้สร้างบ้านเรือนเคหสถานที่ริมแม่น้ำ คือที่สุนันทาลัยเดี๋ยวนี้ แลมีภรรยาในกรุงเทพ ฯ มีบุตรผู้หญิงหนึ่ง ผู้ชายหนึ่ง บุตรผู้หญิงชื่อวัน เข้าทำราชการ เปนพนักงานอยู่ในพระบรมมหาราชวังในรัชกาลที่ ๒ บุตรผู้ชายชื่อแสงเปนนายขันมหาดเล็ก ภายหลังโปรดเกล้า ฯ ให้เปนหลวงอนุรักษ์ภูเบศร์ หลวงอนุรักษ์ภูเบศร์ (แสง) เปนผู้ชำนาญในการยิงปืนแม่นยำ แลชำนาญในการแพทย์ด้วย เมื่อออกมารับราชการเปนที่หลวงอนุรักษ์ภูเบศร์ ผู้ช่วยราชการอยู่ที่เมืองสงขลา มีภรรยาอิกคนหนึ่งชื่อนิ่ม มีบุตรผู้ชายหนึ่ง ผู้หญิงหนึ่ง บุตรผู้ชายชื่อเวียง บุตรผู้หญิงชื่อทับ แต่เมื่อถึงแก่กรรมนั้นในวันเดือนปีใดไม่ปรากฎ ....


--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

เรียบเรียงโดย คุณเพิ่มสิทธิ์ ณ สงขลา (เบิร์ต)


Back to Top