ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๓ : พงศาวดารเมืองสงขลา ตอนที่ ๒

พงศาวดารเมืองสงขลา

พระยาวิเชียรคิรี (ชม) เมื่อยังเปนพระยาสุนทรานุรักษ์ เรียบเรียง

ครั้น ณ ปีฉลู เบญจศก ศักราช ๑๑๕๕ พระจะนะทิดเพ็ชรถึงแก่กรรม เจ้าพระยาสงขลา (บุญหุ้ย) มีใบบอกให้จีนเค่งซึ่งมาแต่เมืองชีจิวหู้เปนเพื่อนร่วมศุขทุกข์กับหลวงสุวรรณคิรีสมบัติ (เหยี่ยง) ถือเข้าไปกราบบังคมทูลพระกรุณา ณ กรุงเทพ ฯ ขอรับพระราชทานให้จีนเค่งเปนพระจะนะสืบต่อไป ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ตั้งให้จีนเค่งเปนพระมหานุภาพปราบสงคราม ผู้ว่าราชการเมืองจะนะ พระจะนะ (เค่ง) ถวายจีนขวัญซ้ายบุตรที่หนึ่ง ให้ทำราชการ เปนมหาดเล็ก อยู่ ณ กรุงเทพฯ นายบัวแก้วบุตรพระจะนะ (ทิดเพ็ชร) เข้าไปทำราชการเปนมหาดเล็กอยู่ ณ กรุงเทพฯ พร้อมกับจีนขวัญซ้าย พระจะนะ (เค่ง) กลับออกมาว่าราชการเมืองจะนะ

ครั้น ณ ปีเถาะสัปตศก ศักราช ๑๑๕๗ อ้ายพม่าข้าศึกยกกองทัพเรือมาตีเมืองถลางแตก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าพระยาพลเทพ (บุนนาก) กับพระยาวิเศษโกษาเปนแม่ทัพ โปรดเกล้าฯ ให้นายเถี้ยนจ๋งมหาดเล็กบุตรพระอนันตสมบัติเปนหลวงนายฤทธิ์ ออกมาในกองทัพเจ้าพระยาพลเทพ (บุนนาก) ด้วย เจ้าพระยาพลเทพยกกองทัพเรือออกมาขึ้นเดินกองทัพที่เมืองชุมพรไปเมืองถลาง เจ้า พระยาพลเทพให้หลวงนายฤทธิ์ (เถี้ยนจ๋ง) เชิญท้องตราออกมาเมืองสงขลา ในท้องตราโปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าพระยาสงขลา (บุญหุ้ย) ยกกองทัพไปถ่วงเมืองไทรบุรีไว้ แล้วให้เกณฑ์ไพร่เมืองสงขลา เมืองจะนะ ให้หลวงนายฤทธิ์ยกไปช่วยตีเมืองถลาง เจ้าพระยาสงขลา (บุญหุ้ย) เกณฑ์ไพร่เมืองสงขลาได้เจ็ดร้อยคน ให้หลวงพลเปนนายทัพ เกณฑ์ไพร่เมืองจะนะได้สองร้อยคน ให้จีนขวัญซ้ายมหาดเล็กบุตรพระจะนะ (เค่ง) เปนนายทัพ รวมไพร่เมืองสงขลา เมืองจะนะเก้าร้อยคน มอบให้หลวงนายฤทธิ์ยกไปทางเมืองพัทลุงไปสมทบทัพเจ้าพระยาพลเทพที่เมืองตรัง แล้วเจ้าพระยาสงขลา (บุญหุ้ย) เกณฑ์ไพร่สองร้อยคน ให้หลวงจ่ามหาดไทยยกไปตั้งถ่วงเมืองไทรบุรีไว้ กองทัพเจ้าพระยาพลเทพกับพระยาวิเศษโกษา หลวงนายฤทธิ์ ยกไปถึงเมืองถลาง ได้ยกเข้าตีพวกพม่าข้าศึกแตกหนีกลับไป เจ้าพระยาพลเทพจัดราชการเมืองถลางอยู่ปี ๑ เสร็จราชการแล้วยกกองทัพมาเมืองสงขลาทางเมืองตรัง ครั้งนั้นด่าตูปักหลันเจ้าเมืองยิริงคิดขบถ เจ้าพระยาพลเทพจัดให้กองทัพเมืองพัทลุง เมืองสงขลา สมทบกับกองทัพหลวง ให้หลวงนายฤทธิ์เปนแม่ทัพยกออกไปตีเมืองยิริง หลวงนายฤทธิ์ยกกองทัพออกไปตีทัพด่าตูปักหลันเมืองยิริงถึง ตลุมบอน จับตัวด่าตูได้ จึ่งได้แยกเมืองตานีออกเปน ๗ เมืองตามพระบรมราชานุญาต เหตุด้วยเมืองตานีเมืองเดียวมีกำลังมาก เมืองสงขลามีกำลังน้อย แล้วตั้งให้นายพ่ายทหารเอกเมืองสงขลาเปนผู้ว่าราชการเมืองยิริง จัดราชการแยกเมืองตานีอยู่ ๖ เดือน เสร็จราชการแล้ว ยกกองทัพพาตัวด่าตูกลับเข้ามาเมืองสงขลา เจ้า พระยาพลเทพ พระยาวิเศษโกษา หลวงนายฤทธิ์ ก็ยกกองทัพกลับเข้าไปกรุงเทพ ฯ เมืองสงขลาเปนปรกติไม่มีทัพศึกอยู่ ๒ ปี ในระหว่างเมืองสงขลาเปนปรกติอยู่ ๒ ปีนั้น เจ้าพระยาอินทคิรี ได้สร้างพระอุโบสถวัดยางทองขึ้นอาราม ๑ โรง พระอุโบสถวัดมัชฌิมาวาศอาราม ๑ รวม ๒ อาราม แลเจ้าพระยาสงขลา (บุญหุ้ย) ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ฟากแหลมสน.

ศักราช ๑๑๗๑ ปีมเสง เอกศก พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกสวรรคต พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลยได้เถลิงถวัลยราชสมบัติ ในจุลศักราช ๑๑๗๑ พม่ายกกองทัพเรือรวม ๒๐๐ ลำ มาตีเอาเมืองถลางได้อิก จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เจ้า พระยายมราชยกกองทัพหลวงออกมาขึ้นเดินบกทางเมืองชุมพร แลโปรดเกล้า ฯ ให้หลวงนายฤทธิ์เชิญท้องตราออกมาถึงเจ้าพระยาสงขลา ให้เจ้าพระยาสงขลายกกองทัพไปถ่วงเมืองไทรบุรีไว้ แลให้เกณฑ์ไพร่เมืองไทรยกไปสมทบทัพเจ้าพระยายมราชด้วย แลให้หลวงนายฤทธิ์คุมไพร่เมืองสงขลา เมืองพัทลุง ยกไปสมทบทัพเจ้าพระยายมราชที่เมืองตรัง เจ้าพระยาสงขลาเกณฑ์ไพร่พลเมืองให้หลวงนายฤทธิ์พันคน ยกไปเมืองตรังทางเมืองพัทลุง แลเกณฑ์ไพร่เมืองพัทลุงไป ๕๐๐ คนด้วย แล้วเจ้าพระยาสงขลาคุมไพร่ ๔๐๐ คนยกไปตั้งอยู่ที่เมืองไทรบุรี แล้วเกณฑ์ไพร่เมืองไทร ๑๐๐๐ คน เรือ ๓๐ ลำ แต่งให้พระยาปลัดเมืองไทรเปนนายทัพ รีบยกไปสมทบกับเจ้าพระยายมราชที่เมืองตรัง เจ้าพระยายมราชรวมกองทัพเมืองนครศรีธรรมราช เมืองพัทลุง เมืองสงขลา เมืองไทร ได้พร้อมแล้วยกกองทัพไปตีเมืองถลาง อ้ายพม่าข้าศึกแตกหนีไป เจ้าพระยายมราชตีได้เมืองถลางคืน แล้วเกณฑ์ไพร่เมืองนคร เมืองสงขลา เมืองพัทลุง ให้อยู่รักษาเมืองถลาง จัดราชการอยู่ ๓ ปี ราชการเรียบร้อยแล้วจึ่งได้ยกกองทัพกลับกรุงเทพ ฯ เมืองสงขลาไม่มีทัพศึกเปนปรกติอยู่ ๓ ปี เจ้าพระยาอินทคิรี ศรีสมุทสงครามรามภักดี อภัยพิริยบรากรมพาหุ ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา (บุญหุ้ย) ป่วยโรคชราถึงแก่ อสัญญกรรม ได้เปนผู้สำเร็จราชการเมืองมา ๓๔ ปี เจ้าพระยาอินทคิรีไม่มีบุตร จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้หลวงนายฤทธิ์ (เถี้ยนจ๋ง) บุตรพระอนันต์ (บุญเฮี้ยว) ซึ่งเปนหลานเจ้าพระยาอินทคิรี เปนพระยาวิเศษภักดี ศรีสุรสงคราม พระยาสงขลา แลโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้พระยาวิเศษภักดี เชิญตราตั้งออกมาพระราชทานให้พระภิรมย์สมบัติ (บุญซิ้น) ซึ่งเปนน้องต่างมารดาของเจ้าพระยาอินทคิรี เปนพระยาศรีสมบัติจางวาง พระราชทานให้นายเถี้ยนเส้ง น้องร่วมมารดากับพระยาวิเศษภักดีเปนพระสุนทรนุรักษ์ ครั้นณวันเดือนหกปีวอกจัตวาศก ศักราช ๑๑๗๔ ปี พระยาวิเศษภักดี พร้อมด้วยญาติพี่น้อง ได้จัดแจงเผาศพเจ้าพระยาอินทคิรีเสร็จแล้ว ได้เชิญอัฐไปทำฮ่องสุยตามธรรมเนียมจีนที่ริมเขาแหลมสน เคียงกับฮ่องสุยหลวงสงขลา (เหยี่ยง)

ศักราช ๑๑๗๕ ปีรกา เบญจศก โปรดเกล้าฯ ให้พระยาศรีสุริยพาหจางวางกรมม้า เปนแม่กองออกมาสักเลขเมืองสงขลา ตั้งโรงสักที่ทุ่งบ่อเตย พระยาศรีสุริยพาห สักเลขอยู่ ๒ ปี เสร็จการสักเลขแล้วกลับเข้าไปณกรุงเทพ ฯ ครั้งนั้นพระยาไทรเกิดขัดเคืองกับเมืองสงขลา จึ่งไปขึ้นกับเมืองนครศรีธรรมราช เจ้าพระยานครศรีธรรมราช นำความขึ้นกราบบังคมทูลทรงทราบใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาทแล้ว โปรดเกล้า ฯ ให้เมืองไทรขึ้นกับเมืองนครตามสมัค ในปีนั้นพระยาตรังกานูวิวาทขึ้นกับพระยากลันตัน ๆ จึ่งเข้ามาขอขึ้นอยู่กับเมืองสงขลาไม่สมัคจะขึ้นกับเมืองตรังกานูสืบไป พระยาวิเศษภักดี ตอบกับพระยา กลันตันว่ารับไว้ไม่ได้ ด้วยแต่ก่อนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกรมพระราชวังบวร ฯ โปรดเกล้า ฯ ให้เมืองกลันตันขึ้นอยู่กับเมืองตรังกานู พระยากลันตันจึ่งเลยไปขอขึ้นกับเมืองนครศรีธรรมราช เจ้าพระยานครนำความขึ้นกราบบังคมทูลตามที่พระยาตรังกานู กับพระยา กลันตันวิวาทกัน โปรดเกล้า ฯ ให้เมืองกลันตันขึ้นกับเมืองนครตามสมัค เมืองกลันตันจึ่งได้ขึ้นกับเมืองนครสืบต่อมา.

ครั้น ณ ปีฉลู นพศก ศักราช ๑๑๗๙ พระยาวิเศษภักดี พระยาสงขลา เข้าไปเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ กรุงเทพ ฯ ให้พระยาศรีสมบัติจางวาง กับพระสุนทรนุรักษ์อยู่รักษาเมือง ครั้น ณ เดือน ๖ ปีฉลู นพศก พระยาศรีสมบัติจางวางป่วยเปนไข้พิศม์ถึงแก่กรรม ครั้นพระยาวิเศษภักดีกลับออกมาถึงเมืองสงขลาป่วยเปนโบราณโรค ครั้น ณ วันเดือน ๓ ปีฉลูนพศก พระยาวิเศษภักดี พระยาสงขลาถึงแก่กรรม เปนผู้ว่าราชการเมืองอยู่ ๗ ปี พระสุนทร (เถี้ยนเส้ง) ให้หลวงพิทักษ์ราชาอยู่รักษาเมือง พระสุนทรนุรักษ์รีบเข้าไปเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวณกรุงเทพฯ จึ่งโปรดเกล้า ฯ ให้พระสุนทรนุรักษ์เปนผู้ว่าราชการเมืองสงขลา แลพระราชทานศิลาน่าเพลิงออกมาเผาศพพระยาศรีสมบัติจางวาง พระยาวิเศษภักดี พระยาสงขลาด้วย พระสุนทร (เถี้ยนเส้ง) นายพลพ่าย (บุญสัง) บุตรพระยาศรีสมบัติจางวาง กราบถวายบังคมลากลับออกมาเมืองสงขลาพร้อมกัน

ครั้น ณ เดือน ๗ ปีขาล สัมฤทธิศก ศักราช ๑๑๘๐ พระสุนทรนุรักษ์ผู้ว่าราชการเมืองสงขลา พร้อมกับหมู่ญาติได้จัดการเผาศพพระยาศรีสมบัติจางวาง พระยาวิเศษภักดี พระยาสงขลาพร้อมกันเสร็จแล้ว ได้เชิญอัฐิพระยาศรีสมบัติจางวาง พระยาวิเศษภักดีพระยาสงขลา ไปทำฮ่องสุยไว้ณที่อันเดียวกันริมเขาแหลมสน พระยาวิเศษภักดี พระยาสงขลา (เถี้ยนจ๋ง) ได้เปนผู้สำเร็จราชการเมืองอยู่ ๗ ปี ได้สร้างโรงพระอุโบสถวัดสุวรรณคิรีอาราม ๑ ยังไม่ทันเสร็จ ในปีนั้นพระสุนทรนุรักษ์ กับนายพลพ่าย หลวงพิทักษ์ราชา นายแพะบุตรพระสุนทรนุรักษ์ พากันเข้าไปเฝ้าใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาทถวายพระราชกุศล จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ตั้งให้พระสุนทรเปนพระยาวิเชียรคิรี ศรีสมุท วิสุทธิศักดา มหาพิไชยสงคราม รามภักดี อภัยพิริยบรากรมพาหุ ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา โปรดเกล้า ฯ ให้นายพลพ่าย (บุญสัง) เปน หลวงสุนทรนุรักษ์ ผู้ช่วยราชการ โปรดเกล้า ฯ ให้หลวงพิทักษ์ราชาเปนพระพิเรนทรภักดี ผู้ช่วยราชการ โปรดเกล้า ฯ ให้นาย (แพะ) เปนหลวงสมบัติภิรมย์ ผู้ช่วยราชการ กลับออกมารับราชการอยู่ที่เมืองสงขลา ภายหลังจึ่งโปรดเกล้า ฯ ให้นายเหมเปนหลวงอนุรักษ์ภูเบศร์ ผู้ช่วยราชการ โปรดเกล้า ฯ ให้นายยกเส่งเปนหลวงอุดมบริรักษ์ ผู้ช่วยราชการ โปรดเกล้า ฯ ให้นายหมีเปนหลวงพิทักษ์สุนทร ผู้ช่วยราชการ

ในปีขาล สัมฤทธิศก ศักราช ๑๑๘๐ นั้น พระยาถลางมีใบบอกเข้าไปณกรุงเทพ ฯ ว่า พม่ายกกองทัพมาตั้งต่อเรือที่เมืองมฤทเมืองตะนาวศรี แต่ไม่ทราบว่าจะไปตีเมืองใด จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พระยาศรสำแดงคุมไพร่ ๒๐๐ คนยกออกมาตั้งอยู่ที่เมืองสงขลา ให้พระยาพิไชยสงครามคุมไพร่ ๒๐๐ คนออกมาตั้งอยู่ที่เมืองพัทลุง ให้พระยาวิชิตณรงค์คุมไพร่ ๒๐๐ คนออกมาตั้งอยู่ที่เมืองนครศรีธรรมราช ให้พระยากลาโหมราชเสนาคุมไพร่ ๕๐๐ คนออกมาตั้งอยู่ที่เมืองถลาง โปรดเกล้า ฯ ให้เกณฑ์ไพร่เมืองสงขลา เมืองพัทลุง ให้ข้าหลวงคุมไปตั้งต่อเรือรบอยู่ที่เมืองสตูลอิกกองหนึ่ง พระยาศรสำแดงข้าหลวงออกมาตั้งอยู่ที่เมืองสงขลาปีหนึ่ง จึ่งเลิกกองทัพกลับเข้าไป ณ กรุงเทพ ฯ ในปีเถาะ เอกศก ศักราช ๑๑๘๑

ครั้นปิมโรง โทศก ศักราช ๑๑๘๒ บังเกิดความไข้อหิวาตกะโรค ราษฎรพลเมืองล้มตายเปนอันมาก ความไข้ตลอดมาจนถึงปีมเสงตรีศกจึ่งได้สงบ

ในปีมเสงนี้เจ้าพระยานครศรีธรรมราชเข้าไปณกรุงเทพ ฯ กราบบังคมทูลพระกรุณาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า เจ้าพระยาไทรเปนคนดื้อดึง จะเอากิจราชการสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ไม่ได้ แลไม่ฟังบังคับบัญชาเมืองนครศรีธรรมราช ขอรับพระราชทานยกกองทัพไปตีเมืองไทรบุรี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าพระยานครเปนแม่ทัพแลมีท้องตราออกมาเกณฑ์ไพร่เมืองนคร เมืองไชยา เมืองสงขลา เมืองพัทลุง ให้ยกไปตีเมืองไทรบุรี เจ้าพระยานครเชิญท้องตราเปนแม่ทัพออกมาเกณฑ์ไพร่ได้พร้อมแล้วยกกองทัพไปตีเมืองไทรบุรี เจ้า พระยาไทรบุรีไม่ต่อสู้ ยกอพยพครอบครัวหนีไปอยู่เมืองเกาะหมาก กองทัพเจ้าพระยานครเข้าตั้งอยู่ในกลางเมืองไทรบุรี แล้วกวาดต้อนเอาครอบครัวราษฎรเมืองไทรส่งเข้าไปถวายณกรุงเทพ ฯ หลายร้อยครัว แล้วเจ้าพระยานครมีใบบอกเข้าไปกราบบังคมทูลพระกรุณาขอรับพระราชทานให้นายแสงบุตรเจ้าพระยานคร เปนพระยาไทรบุรีด้วยทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้มีท้องตราออกมาตั้งนายแสงบุตรเจ้า พระยานคร ให้เปนตำแหน่งที่พระยาอภัยธิเบศร์ มหาประเทศราชธิบดินทร์ อินทรไอสวรรย์ ขัณฑเสมา มาตยานุชิต สิทธิสงครามรามภักดี พิริยพาห พระยาไทรบุรี

ครั้น ณ ปีกุญ นพศก ศักราช ๑๑๘๙ อ้ายอนุเวียงจันทร์เปนขบถ โปรดเกล้า ฯ มีท้องตราออกมาเกณฑ์กองทัพเมืองนครศรีธรรมราช เมืองสงขลา เมืองพัทลุง พระยาสงขลาเกณฑ์ไพร่ได้ ๑๐๐๐ เศษ รีบยกกองทัพเข้าไปถึงกรุงเทพ ฯ แต่ไม่ทันจะได้เข้ารบกับอ้ายอนุขบถ เพราะการสงบเรียบร้อยแล้ว จึ่งโปรดเกล้า ฯ ให้พระยาสงขลาทำป้อมที่เมือง สมุทปราการ พระยาสงขลาคุมไพร่ ๑๐๐๐ เศษ ทำป้อมอยู่ที่เมืองสมุทปราการปีหนึ่งจึ่งเสร็จราชการ แล้วกราบถวายบังคมลาออกมาเมืองสงขลา

ครั้น ณ ปีชวด สัมฤทธิศก ศักราช ๑๑๙๐ โปรดเกล้า ฯ มีท้องตราออกมาให้พระยาสงขลาต่อเรือศีศะง้าว ๓๐ ลำ พระยาสงขลาให้หลวงสุนทรนุรักษ์ผู้ช่วยราชการคุมไพร่ ๑๐๐๐ คนไปตั้งต่อเรืออยู่ที่เมืองเทพา แลในปีฉลูเอกศกนั้นฝนตกน้อย ราษฎรทำนาไม่ได้รับผล ราษฎรเกิดระส่ำระสายด้วยเข้าแพง พระยาสงขลาจึ่งให้เลิกการต่อเรือเสีย แลในปีขาล โทศก กำลังเข้าแพงอยู่นั้น โปรดเกล้า ฯ ให้หมื่นสมันพันธูรเชิญท้องตราออกมาสักเลขเมืองสงขลา โปรดเกล้า ฯ ให้พระยาสงขลาเปนแม่กองตั้งโรงสักเลขที่ศาลากลาง ภายหลังโปรดเกล้า ฯ ให้ข้าหลวงเสนา ๘ นายแต่ไม่ปรากฏนาม เชิญท้องตราออกมาประเมิลนา แลออกตราแดงให้แก่ราษฎรเปนครั้งแรก ในปีขาลโทศกนี้พระยาสงขลาเกณฑ์ไพร่ ๑๐๐๐ คน ไปต่อเรือที่เมืองเทพาอิก การต่อเรือยังไม่ทันเสร็จ ครั้น ณ วันเดือนหก ปีเถาะ ตรีศก ตนกูเดนบุตรเจ้าพระยาไทร ซึ่งยกอพยพครอบครัวหนีไปอยู่เมืองเกาะหมาก คิดอ่านซ่องสุมผู้คนบ่าวไพร่ได้มากแล้วยกเข้าตีชิงเอาเมืองไทรบุรีคืนได้ แล้วรวบรวมคบคิดกับพระยาตานี พระยายิริง พระยายะลา ยกกองทัพมาตีเมืองสงขลา ตั้งค่ายอยู่ที่เขาลูกช้างแลบางกระดาน กองทัพเมืองสงขลาออกต่อสู้ต้านทานไว้เปนสามารถ ครั้น ณ วันเดือนห้า ขึ้นค่ำหนึ่ง ศักราช ๑๑๙๔ ปีมโรง จัตวาศก โปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าพระยาพระคลังที่สมุหพระกลาโหมเปนแม่ทัพ ยกกองทัพเรือออกมาถึงเมืองสงขลา ตั้งค่ายมั่นอยู่ที่ตำบลบ้านบ่อพลับ พระยาตานี พระยายะลา พระยายิริง เห็นว่ากองทัพหลวงยกออกมาถึงเมืองสงขลา ก็พาอพยพครอบครัวหนีไปเมืองกลันตัน แต่พระยารามันห์ พระยาหนองจิก ยกครอบครัวหนีไปทางบก ไปอยู่ที่ตำบลบ้านนาที่บาโรมแขวงเมืองแประ เจ้าพระยาพระคลังแม่ทัพใหญ่มีบัญชาสั่งให้พระยาสงขลายกกองทัพออกไปตีเมืองตานี เมืองหนองจิก แลให้พระสุนทรนุรักษ์ ผู้ช่วยราชการคุมไพร่ตามออกไปรวบรวมเสบียงอาหารไว้ที่เมืองตานี แล้วเจ้าพระยาพระคลังกับพระยานครศรีธรรมราชยกกองทัพหลวงออกไปตั้งอยู่ที่เมืองตานี โปรดให้หลวงสุนทรนุรักษ์ ผู้ช่วยราชการคุมไพร่ ๓๐๐๐ คนตามไปจับตัวพระยารามันห์ หลวงสุนทรนุรักษ์ คุมไพร่ตามไปจับตัวพระยารามันห์ได้ที่บ้านนาตำบลบาโรมแขวงเมืองแประได้สิ้นทั้งครอบครัว แต่พระยาหนองจิกออก ต่อสู้กับพวกทหารไทยตายเสียในที่รบ จับได้แต่บุตรภรรยาสมัคพรรคพวก แล้วตัดเอาศีศะพระยาหนองจิกมาส่งเจ้าพระยาพระคลังแม่ทัพใหญ่ที่เมืองตานี เจ้าพระยาพระคลังแม่ทัพใหญ่ให้จำตัวพระยารามันห์เข้าไป ณ กรุงเทพ ฯ แต่บุตรภรรยาสมัคพรรคพวกพระยารามันห์นั้นให้กลับไปอยู่เมืองรามันห์ตามเดิม แต่สมัคพรรคพวกแลบุตรภรรยาครอบครัวพระยาหนองจิก พระยาตานีนั้น ให้ส่งเข้าไป ณ กรุงเทพ ฯ ทั้งสิ้น จัดราชการเมืองตานี เมืองหนองจิก เมืองยะลา เมืองรามันห์ เปนปรกติเรียบร้อยแล้ว เจ้าพระยาพระคลังแม่ทัพใหญ่ยกกองทัพกลับเข้ามาพักอยู่ที่เมืองสงขลา แลได้สถาปนาพระเจดีย์ไว้บนยอดเขาเมืองแห่งหนึ่งเสร็จแล้ว จึ่งยกกองทัพกลับเข้าไป ณกรุงเทพ ฯ

ในปีเถาะ นพศก ฝนตกน้ำท่วมจนท้องนาของราษฎรทำนามิได้ผลรับประทานเลย ราษฎรได้ความเดือดร้อนในการที่ไม่มีอาหารรับประทานถึงแก่ล้มตายกลางถนน ที่ยกอพยพครอบครัวไปอยู่บ้านเมืองอื่นเสียโดยมาก เวลานั้นเข้าสารราคาเกวียนละ ๕๐๐ เหรียญก็ยังไม่มีที่จะซื้อ พระยาสงขลารีบเข้าไปกรุงเทพ ฯ นำความที่ราษฎรได้รับความเดือดร้อนไม่มีอาหารรับประทาน ขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลที่ ๓ ทรงทราบฝ่าลอองธุลีพระบาทแล้ว ขอรับพระราชทานซื้อเข้าสารออกมาเจือจานราษฎรในเมืองสงขลา ๑๐๐๐ เกวียน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานยกภาษีเข้าสาร ให้แก่พระยาสงขลา ๆ กราบถวายบังคมลาออกมาถึงเมืองสงขลาในเดือนยี่ปีมโรงจัตวาศก

ครั้น ณ ปีมเสง เบญจศก ศักราช ๑๑๙๕ พระยาสงขลาให้หลวงสุนทรนุรักษ์ผู้ช่วยราชการ คุมต้นไม้ทองเงินเครื่องราชบรรณาการแลเงินส่วยต่าง ๆ เข้าไปทูลกล้า ฯ ถวาย พณหัวเจ้าท่านสมุหพระกลาโหม เจ้าพระยาพระคลังแม่ทัพใหญ่ นำหลวงสุนทรนุรักษ์เข้าเฝ้าทูลเกล้า ฯ ถวายต้นไม้ทองเงิน แล้วกราบบังคมทูลพระกรุณาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า หลวงสุนทรนุรักษ์ ผู้ช่วยราชการเมืองสงขลามีความชอบมาก ด้วยได้ยกทัพติดตามจับตัวพระยารามันห์ แลครอบครัวพระยาหนองจิกได้ในแขวงเมืองแประ จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานสัญญาบัตรให้หลวงสุนทรนุรักษ์ เปนพระสุนทรนุรักษ์ ผู้ช่วยราชการเมืองสงขลา พระสุนทรนุรักษ์กราบถวายบังคมลากลับออกมาเมืองสงขลา

ครั้น ณ ปีวอก อัฐศก ศักราช ๑๑๙๘ โปรดเกล้า ฯ มีท้องตรา ออกมาให้พระยาสงขลาก่อป้อมกำแพงเมืองสงขลา โปรดเกล้า ฯ พระราชทานยกเงินภาษีอากรเมืองสงขลาให้ ๑๐๐ ชั่ง พระยาสงขลาก็กะเกณฑ์ไพร่ลงมือก่อป้อมแลกำแพงเมืองยังไม่ทันเสร็จ ในปีนั้นพระยาสงขลาพาพระยาตานี พระยายิริง พระยาสายบุรี พระยายะลา พระยาระแงะ พระยารามันห์ เข้าไปเฝ้าในงานถวายพระเพลิงพระศพสมเด็จพระพันปีหลวง เจ้าพระยานครศรีธรรมราชก็เข้าไปเฝ้าพร้อมกัน

--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

เรียบเรียงโดย คุณเพิ่มสิทธิ์ ณ สงขลา (เบิร์ต)